การรักษามะเร็งเต้านม
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
27-ก.ค.-2565
การรักษามะเร็งเต้านม

          โรคมะเร็งเต้านม เกิดจากการเจริญเติบโตมากผิดปกติ ของเนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งทำให้เกิดลักษณะของการเป็นก้อน เกิดเป็นแผลที่บริเวณเต้านม โดยสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่ทราบเหตุผลที่มาอย่างแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยดังนี้ คือ


1. ผู้ที่มีประวัติพันธุกรรม ในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่
2. อายุที่เพิ่มมากขึ้น ช่วงอายุประมาณ 40 ปี ขึ้นไป
3.ได้รับการรักษา โดยใช้ยาฮอร์โมน เป็นเวลาต่อเนื่องนานเกิน 10 ปี
4.การรับประทานอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในปริมาณสูง เช่น ถั่วเหลือง
5.น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน

การจำแนกระยะของมะเร็งเต้านม
         ในการจำแนกว่ามะเร็งเต้านมที่ตรวจพบนั้นอยู่ในระยะใด จะใช้เกณฑ์การจำแนกจากขนาดของก้อนเต้านมที่ตรวจพบ ร่วมกับการตรวจต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ซึ่งมีรายละเอียดจำเพาะเจาะจง เพื่อความละเอียดแม่นยำในการวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

มะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 :
คลำพบก้อนที่เต้านม โดยก้อนมีขนาดน้อยกว่า 2 เซนติเมตร

ระยะที่ 2 :
คลำพบก้อนที่เต้านม ก้อนมีขนาดประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร

ระยะที่ 3 :
คลำพบก้อนที่เต้านม ก้อนมีขนาดมากกว่า 3 เซนติเมตร

ระยะที่ 4 :
เป็นระยะที่มีการแพร่กระจาย ไปยังอวัยวะอื่นนอกเหนือจากบริเวณข้างเคียงเต้านม เช่น กระดูก ไขสันหลัง ปอด ตับ สมอง

มะเร็งเต้านม

ขั้นตอนการรักษามะเร็งเต้านม
          การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีวิธีการรักษาแบบบูรณาการหลากหลายองค์ประกอบ (multimodality) ร่วมกัน ได้แก่ การตรวจวิเคราะห์ลักษณะเนื้อเยื่อการตอบสนองต่อฮอร์โมน ชิ้นเนื้อประวัติสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อจำแนกระยะของมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบให้ชัดเจน ผ่านการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม พร้อมอัลตร้าซาวด์เต้านม ซึ่งการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม จะรายงานผลการตรวจจากปกติไปจนถึงผิดปกติ BIRADS (Breast Imaging Recording And Data System) คือ

BIRADS 1 :
ไม่มีความผิดปกติของเต้านม

BIRADS 2 :
มีความผิดปกติในเต้านม เช่น ก้อนเนื้อ ถุงน้ำ โดยความผิดปกติเหล่านี้เมื่อวินิจฉัยแล้วไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม

BIRADS 3 :
มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมน้อยกว่า 2% ต้องมีการตรวจติดตามอาการเป็นระยะ

BIRADS 4 :
ตรวจพบสิ่งที่สงสัยว่าผิดปกติ มีโอกาสเป็นมะเร็งได้

BIRADS 5 :
ตรวจพบความผิดปกติ ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 95 %

วิธีการรักษามะเร็งเต้านม
1.การผ่าตัด มี 2 แบบ ได้แก่
  • การผ่าตัดเต้านมออกไปทั้งข้าง 
  • การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม
        เป็นการผ่าตัดนำเอาก้อนเนื้อเต้านมเฉพาะส่วนที่มีปัญหา และเนื้อเยื่อรอบๆในขอบเขตที่เหมาะสมออกไปเท่านั้น และตามมาด้วยการฉายรังสี ร่วมกับตรวจประเมินต่อมน้ำเหลือง เพื่อการรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมมีความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้

เช่น ผิวหนังบริเวณที่ผ่าตัดเต้านมมีการดึงรั้ง หรือขาดเลือด ภาวะแขนชา แขนบวม ข้อไหล่ติด ในรายที่มีการตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง และหลังผ่าตัดมีการใช้งานขยับเคลื่อนไหวข้อหัวไหล่ไหล่น้อย เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวผู้เข้ารับผ่าตัดต้องมีการทำกายภาพร่วมด้วย

2.การฉายรังสี
  • สำหรับการรักษาต่อเนื่องในผู้ที่ผ่าตัดแบบสงวนเต้านม
  • ผู้ที่มีก้อนเนื้อเต้านมที่เป็นมะเร็ง มีขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร
  • มะเร็งเต้านมที่มีการลุกลามไปยังรักแร้
  • การเลาะต่อมน้ำเหลืองที่ไม่สามารถประเมินผลมะเร็งเต้านมได้ชัดเจน

3.การใช้ยาต้านฮอร์โมน
          การรักษาวิธีนี้เหมาะสำหรับการรักษาในผู้ป่วยที่มีผลการตอบสนองฮอร์โมนผลเป็นบวก โดยก่อนเข้ารับการรักษาวิธีนี้ต้องมีการตรวจเนื้อเยื่อของเต้านมเพื่อวิเคราะห์การตอบสนองต่อฮอร์โมนหรือไม่

4.การใช้เคมีบำบัด (คีโม)
         เป็นการใช้ยาเพื่อรักษามะเร็งเต้านม โดยกลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาจะมีผลกับเซลล์ที่มีการแบ่งตัวมากนอกจากเซลล์มะเร็ง เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์ไขกระดูก เป็นต้น นั่นหมายความว่าการใช้ยาเคมีบำบัดจะมีผลต่อการทำงานทั้งระบบของร่างกายทั้งเซลล์ที่ปกติและผิดปกติ

5.การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะ (Targeted therapy)
         เป็นการใช้ยาที่ยับยั้งการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งโดยตรง โดยปัจจุบันในประเทศไทยการรักษาวิธีนี้ยังคงมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

         ซึ่งก่อนการใช้ยาเพื่อรักษานั้นผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเนื้อเยื่อเต้านม เพื่อวิเคราะห์การตอบสนองต่อฮอร์โมน และการตรวจ Human epidermal growth factor receptor (HER2) โปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยมีผลเป็นบวกมีค่าเข้าเกณฑ์การรักษา

รักษามะเร็งเต้านม

การป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม
         เนื่องจากสาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นไม่ยังไม่ชัดเจน การดูแลสุขภาพด้วยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่สามารถควบคุมได้ เช่น น้ำหนัก การรับประทานอาหาร ผลิตภัณฑ์รวมไปถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะช่วยป้องกันและรู้ทันความผิดปกติได้ในระยะแรกเริ่ม เพิ่มโอกาสในการรักษาหายสูง ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมได้ถึง 33%

         โดยแนะนำการตรวจคัดกรองะเร็งเต้านมด้วยตนเองเดือนละ 1 ครั้ง ร่วมด้วยกับวิธีการตรวจเฉพาะทาง ดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตร้าซาวด์เต้านม สำหรับผู้หญิงทุกคนที่อายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป อย่างน้อย 1 ครั้ง หากไม่พบความผิดปกติสามารถตรวจได้อีกครั้งเมื่ออายุ 40 ปี เมื่ออายุ 40 ปี แนะนำตรวจทุกปี ปีละ 1 ครั้ง


บทความโดย

พญ.นปภา ฉายอำพร
ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเปาโลเกษตร