ต้อกระจก ภัยร้ายของดวงตา
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
21-พ.ค.-2567
        ต้อกระจกอีกหนึ่งภัยร้ายของดวงตา โดยมีภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดการขุ่นของ “เลนส์ตา” ซึ่งปกติเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่ช่วยในการรวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี เมื่อเกิดต้อกระจก จึงทำให้แสงไม่สามารถเข้าไปในตาได้ตามปกติ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัว ซึ่งอาการดังกล่าวพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

สาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจก
ต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่นและแข็งขึ้น สามารถพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งสาเหตุหลักคือ เป็นความเสื่อมตามวัย ที่สัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น แต่อาจพบได้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยได้เช่นกัน เช่น ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดจากมารดาที่ติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์


สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจก

 มีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้เกิดต้อกระจกได้ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
 การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นระยะเวลานาน ๆ
 มีปัญหาโรคทางตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ สายตาสั้นมาก ๆ เคยผ่าตัดตามาก่อน เช่น หลังผ่าตัดจอตา
 มีการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
 เคยประสบอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนบ่อย ๆ
 เคยโดนฉายรังสีในส่วนบนของร่างกาย (ศีรษะ)

ต้อกระจก

อาการของโรคต้อกระจก

 มีอาการมองไม่ชัดอย่างช้า ๆ ไม่มีการอักเสบหรือปวด มองเห็นมัว ๆ เหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นในเนื้อเลนส์
 เกิดอาการภาพซ้อน สายตาพร่า เกิดความขุ่นของเลนส์แก้วตาไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว ในผู้ป่วยบางรายจะมีสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแว่นตาบ่อย ๆ ในบางรายสายตาสั้นขึ้นจนกลับมาอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น
 ตาสู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืน
 เมื่อต้อกระจกสุก อาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวตรงรูม่านตา โดยปกติแล้วจะเห็นเป็นสีดำ ซึ่งหากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในดวงตา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

การรักษาโรคต้อกระจก
ในช่วงแรกของการเป็นต้อกระจก การเปลี่ยนแว่นตาแก้ไขอาจทำให้มองเห็นชัดขึ้นได้บ้าง โดยยังไม่มียาหยอดตาหรือยารับประทานใด ๆ ที่รักษาต้อกระจกได้ เมื่อเป็นมากขึ้นมองเห็นไม่ชัด วิธีการรักษาคือการผ่าตัด

ต้อกระจก

การผ่าตัดรักษาต้อกระจก
1. วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification With Intraocular Lens) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน แผลที่กระจกตาเล็กเพียง 3 มิลลิเมตร แพทย์จะสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่ตัว ต้อกระจก ใช้พลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตร้าซาวด์เข้าไปสลายต้อกระจกจนหมดจึงจะใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แผลมีขนาดเล็กมาก ไม่ต้องเย็บแผลในคนไข้ส่วนใหญ่

2. วิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก ๆ จนไม่เหมาะกับการสลายด้วยเครื่อง จักษุแพทย์จะเปิดแผลบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มิลลิเมตร เพื่อเอาตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แล้วจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผล

        การป้องกันการเกิดต้อกระจกเบื้องต้น คือการสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอ อี และซี ช่วยบำรุงสายตา แต่อย่างไรก็ดีการรับประทานวิตามินเสริมยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าลดความเสี่ยงการเกิดต้อกระจกได้ และแนะนำควรตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป


📚บทความสุขภาพ📚
📖โรคต้อ ปัญหาสายตา ที่ไม่ควรมองข้าม 
📖การคัดกรองสุขภาพตาในเด็ก 
📖รู้ให้ไว สุขภาพสายตา ลูกรักนั้นสำคัญ 
📖พาราเซตามอล ใช้ถูกวิธีมีประโยชน์ 



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก  หู ตา คอ จมูก โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5255 , 5256 
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset