“PMS” กับอาการเหวี่ยงวีนของสาวๆ ก่อนมีประจำเดือน
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
18-ก.ค.-2566
อาการขี้เหวี่ยงขี้วีนของผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน นอกจากจะก่อความรำคาญให้กับตัวเองและคนรอบข้างแล้ว ยังทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ใช้ชีวิตได้ไม่สุด กลายเป็นวันแย่ๆ วันหนึ่งไปเลยก็ได้ ซึ่งอาการแบบนี้ในทางการแพทย์เรียกว่า กลุ่มอาการ PMS หรือ Premenstrual Syndrome

PMS คืออะไร?
PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ คือราว 80% มักประสบกับปัญหานี้ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20-40 ปี อาการที่สังเกตได้คือ การรู้สึกเหมือนว่าตัวเองป่วย ไม่สบายตัว มีอารมณ์หงุดหงิด เหวี่ยงวีนง่ายกว่าปกติ และมักเป็นในช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5-11 วัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะเริ่มดีขึ้นและหายได้เองหลังประจำเดือนมาแล้ว 4-7 วัน

ทำไมผู้หญิงถึงมีอาการ PMS
อันที่จริง ร่างกายของผู้หญิงจะแสดงอาการ PMS มากหรือน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ซึ่งร่างกายจะส่งสัญญาณของกลุ่มอาการ PMS ออกมา โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
  • กลุ่มอาการทางจิตใจและอารมณ์ มีอาการหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย เครียด มีอารมณ์แปรปรวน เป็นกังวลหรือซึมเศร้า
  • กลุ่มอาการทางร่างกาย มีอาการเจ็บและคัดตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีความอยากอาหารตลอดเวลา ตัวบวม ท้องอืด อ่อนแรง เหนื่อยง่าย ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง

ไม่อยากมีอาการ PMS ต้องทำอย่างไร?
อาการ PMS สามารถบรรเทาได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา ด้วยวิธีการดังนี้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีรสเค็มหรือหวานจัด
  • เมื่อมีความอยากอาหารบ่อย ให้แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แล้วกินวันละหลายๆ มื้อแทน จะช่วยลดความอยากอาหาร ป้องกันการกินเยอะเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและน้ำหนักตัวได้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หากรู้ตัวว่าเป็นคนเครียดง่าย ให้ทำกิจกรรมที่ชอบหรือที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย อาจออกไปพบปะเพื่อนฝูงก็จะช่วยลดให้รู้สึกดีขึ้นได้


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 5148 - 5220
Line : Paolochokchai4