5 วิธีบริหาร เมื่อมีอาการหัวไหล่ติด
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
13-ธ.ค.-2561
ข้อไหล่หรือหัวไหล่ เป็นอวัยวะที่เราใช้เคลื่อนไหวมากในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นการเอื้อมหยิบของ การยกของ หรือการหมุนหัวไหล่จนสามารถเอื้อมมือไปยังด้านหลังได้ ซึ่งการใช้งานบริเวณหัวไหล่มากๆ อาจเกิดการอักเสบหรือที่เรียกว่าข้อไหล่ติดได้

จุดสังเกต…อาการข้อไหล่ติด

หัวไหล่ติดมักจะเกิดกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะคนที่เป็นเบาหวาน โรคหัวใจจะพบอาการหัวไหล่ติดได้มากกว่าคนอื่นๆ เมื่อมีอาการจะไม่สามารถเคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ เนื่องจากหัวไหล่ตึงมาก จนไม่สามารถยกหรือขยับได้ และอาการมักจะเกิดกับหัวไหล่ทั้งสองข้าง หรือเกิดกับหัวไหล่ข้างใดข้างหนึ่งที่ไม่ถนัด โดยอาการหัวไหล่ติดนี้จะค่อยๆ เริ่มต้นจากการปวดบริเวณหัวไหล่ ทำให้เคลื่อนไหวหัวไหล่ได้น้อยลงจนกระทั่งหัวไหล่ติด

5 วิธี! การแก้อาการหัวไหล่ติด

อาการหัวไหล่ติดถ้ารีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อาการก็จะไม่รุนแรง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำกายภาพหรือหาหมออาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหัวไหล่ติดได้ การแก้หรือการบริหารอาการหัวไหล่ติดนั้นก็คือ การพยายามยืดเยื่อหุ้มข้อไหล่ และเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ซึ่งสามารถทำได้เองที่บ้านโดยจะต้องยืดทีละเล็กทีละน้อย และต้องยอมให้มีอาการเจ็บบ้างเล็กน้อย และควรทำทุกวันจนกว่าอาการจะทุเลาลง ซึ่งเรามี 5 ท่าบริหารที่สามารถทำได้เองที่บ้านมาแนะนำ

1.ยืนหันหน้าเข้าหาผนังห้อง ยกแขนที่หัวไหล่เจ็บไปข้างหน้า เหยียดข้อศอกให้ตรง (ใช้มือข้างที่ดีควบคุม) ข้อและนิ้วมือตรง เดินเข้าหาผนังห้องให้ปลายนิ้วแตะฝาผนัง พยายามเลื่อนปลายนิ้วให้สูงขึ้นด้วยการเดินเข้าหาผนังห้องจนรู้สึกตึงและเจ็บหน่อยๆ จึงก้าวถอยหลังออกมา แล้วเดินหน้าเข้าไปใหม่ ทำซ้ำ 10 ครั้ง
2.นั่งลงบนเก้าอี้ เอามือทั้งสองข้างประสานกันขึ้นเหนือศีรษะ เหยียดข้อศอกให้ตรง แล้วเอาแขนทั้งสองข้างแนบหูหลังจากนั้นงอข้อศอกให้มือที่ประสานกันวางที่ท้ายทอย แบะศอกออกให้เต็มที่ นับ 1 ถึง 5 แล้วเหยียดข้อศอกตรงมือประสานเหนือศีรษะ แล้วเอาแขนทั้งสองข้างแนบหู ทำซ้ำแบบนี้ประมาน 10 ครั้ง
3.ยืนหรือนั่ง เอาแขนข้างที่เจ็บเหยียดตรงอยู่ระดับไหล่ งอข้อศอกให้มาแตะไหล่ข้างที่ดีและใช้มือข้างที่ดีดึงข้างหลัง ข้อศอกข้างที่เจ็บให้มือข้างที่เจ็บแตะด้านหลังของหัวไหล่ข้างที่ดี ท่านี้จะคล้ายกับล็อคคอตัวเอง (ทำจำนวนเท่าที่ทำได้)
4.ยืนหันหน้าเข้าหามุมห้องให้ห่างพอสมควร แขนกางระดับไหล่ ให้ศอกงอ 90 องศา ใช้ฝ่ามือวางบนฝาหนังทั้งสองข้างของมุมห้อง ก้าวขาข้างที่ไหล่เจ็บไปข้างหน้า แล้วแอ่นอกเข้าหามุมห้อง ควบคุมให้หัวไหล่ข้างเจ็บยืดจนตึงและเจ็บหน่อยๆ นับ 1 ถึง 5 แล้วถอยส่วนหน้าอกกลับและแอ่นอกเข้าไปใหม่ ทำซ้ำ 10 ครั้ง
5.นั่งหรือยืนห้อยแขนไว้ข้างลำตัว เหยียดข้อศอกให้ตรง ยักไหล่ขึ้น 2 ข้าง แล้วแบะไหล่ไปข้างหลังและปล่อยลงข้างหลัง ทำซ้ำแบบนี้ประมาน 10 ครั้ง

หมั่นทำซ้ำบ่อยๆ และพยายามหลักเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดอาการข้อไหล่ติด เพื่อชีวิตที่ไม่ต้องทนกับอาการปวดและทรมาน


สอบถามรายละเอียด

ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105