“ไหล่ติด” อันตรายจากสาเหตุใกล้ตัว
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
03-ต.ค.-2561
title วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ “ภาวะไหล่ติด”ซึ่งเป็นภาวะของข้อต่อบริเวณไหล่ติดขัด มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณด้านนอกของหัวไหล่และต้นแขน ในขณะที่เคลื่อนไหว

ซึ่งทำให้การขยับเขยื้อนนั้นลำบาก โดยภาวะนี้พบได้ประมาณ 2-3% ในคนอายุ 40-60 ปี และมักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

“ไหล่ติด” เกิดจากสาเหตุอะไร

ภาวะข้อไหล่ติดนั้นเกิดจากเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่อักเสบทำให้เส้นเอ็นเหล่านั้นหนาตัวขึ้นและเมื่อเรายกแขนหรือเอามือไขว้หลังจะทำให้เส้นเอ็นถูกยืดและกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดจนทำให้เราไม่กล้ายกแขนขึ้นเหนือศีรษะเมื่อเราหลีกเลี่ยงการยกแขนการเคลื่อนไหวหัวไหล่ก็จะยิ่งทำให้เอ็นรอบข้อไหล่หนาตัวมากขึ้นองศาการเคลื่อนไหวของเราก็จะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ

การทำงานของ “หัวไหล่” ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

เนื่องจากหัวไหล่เป็นข้อต่อประเภทลูกกลมและเบ้าที่ประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วนได้แก่กระดูกต้นแขนกระดูกสะบักและกระดูกไหปลาร้าโดยมีเยื่อหุ้มข้อไหล่เป็นตัวยึดข้อต่อเข้าด้วยกันและมีน้ำไขข้อเป็นตัวช่วยหล่อลื่นเพื่อให้เคลื่อนไหวได้ง่ายมากขึ้นแต่เมื่อเยื่อหุ้มข้อไหล่เกิดอาการบวมและหนาขึ้นจึงทำให้เกิดอาการไหล่ติดตามมาซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด


นี่คือกลุ่มเสี่ยง…ที่อาจเกิด “ไหล่ติด”

1.ผู้ที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวบริเวณไหล่เป็นเวลานานจะยิ่งมีความเสี่ยงกว่าคนปกติมากขึ้นเช่น คนที่เคยผ่าตัดหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่เพราะบางครั้งอาการไหล่ติดอาจเกิดขึ้นหลังจากการบาดเจ็บหรือหักของแขนหัวไหล่จึงทำให้บริเวณนั้นไม่ถูกใช้งานในขณะพักฟื้น
2.ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีแนวโน้มเกิดอาการไหล่ติดมากขึ้นเป็น 2 เท่ากว่าคนปกติอาการอาจรุนแรงและรักษาได้ยากหรืออาจพัฒนาอาการขึ้นกับไหล่ทั้ง 2 ข้าง
3.ปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆเช่นโรคหัวใจโรคหลอดเลือดในสมองโรคปอดโรคทางต่อมไทรอยด์อย่างภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนมะเร็งเต้านมการหดรั้งของแผ่นเอ็นฝ่ามือ
4.ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไหล่เช่นหินปูนเกาะกระดูกไหล่หรือเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด

แม้ว่าโรคนี้ดูเหมือนจะเป็นโรคที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้นแต่หากดูที่สาเหตุจริงๆแล้ววัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในห้องแอร์และไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายมากนักและไม่มีเวลาออกกำลังกาย ก็อาจเสี่ยงมีอาการไหล่ติดได้เหมือนกันหากเริ่มมีอาการเมื่อไรควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก่อนสายเกินไป

โรคนี้…รักษาได้

อาการไหล่ติดสามารถรักษาได้หลายวิธีแต่บางรายอาจหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาซึ่งอาจกินเวลานาน 18-24 เดือนหรือมากกว่าขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของอาการโดยจุดประสงค์ของการรักษาต้องการให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวและใช้งานหัวไหล่ได้ใกล้เคียงกับสภาพปกติมากที่สุด

สอบถามรายละเอียด
ศูนย์กระดูกและข้อ อาคาร 2 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105