“ปวดหลังหลังคลอด” สัญญาณร้าย…ที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม!
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
05-ก.ย.-2561
คุณแม่หลายคนอาจมัวแต่ทุ่มเทกับการดูแลลูกน้อยในครรภ์จนละเลยการดูแลตัวเอง จึงอาจจะต้องเผชิญกับอาการปวดหลังที่ตามมาในช่วงหลังคลอด ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยจึงไม่ได้ให้ความสนใจ แต่รู้มั๊ยว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเข้าสู่ภาวะโครงสร้างผิดปกติ จนอาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นได้เลยล่ะ

โครงสร้าง…ที่เปลี่ยนแปลงไป

การตั้งครรภ์ทำให้โครงสร้างร่างกายคุณแม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อแบกรับน้ำหนักของทารกที่เพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์ และถ้าหากไม่มีการดูแลตัวเองในช่วงหลังคลอดอย่างถูกวิธี ก็อาจทำให้คุณแม่ฟื้นตัวได้ช้าและมีอาการปวดหลังรุนแรงมากขึ้น จนโครงสร้างกระดูกผิดปกติ ข้อกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกมีปัญหา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาจถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้

พฤติกรรม…ผิดที่ผิดทาง

โดยปกติแล้วในช่วงหลังคลอดร่างกายจะปรับสู่สภาพปกติได้ใน 1-2 เดือน แต่หากไม่ระวังอิริยาบถ คือมีลักษณะท่าทางการอุ้มลูกที่ผิด หรือท่าทางในการให้นมที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจส่งผลให้คุณแม่ปวดคอ และปวดกล้ามเนื้อหลัง รวมถึงความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการดูแลลูกน้อยตลอด 24 ชั่วโมง ก็ยิ่งทำให้การฟื้นตัวหลังคลอดนั้นยากยิ่งขึ้น ดังนั้นนอกจากจะใส่ใจดูแลลูกน้อยแล้ว คุณแม่ก็ควรให้เวลากับการใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยเช่นกัน

วิธีป้องกัน…ให้ห่างไกลโรค

เพื่อให้ชีวิตแฮปปี้ทั้งคุณแม่คุณลูก เรามีวิธีป้องกันและรักษาอาการปวดหลังในช่วงหลังคลอดมาฝาก ให้เหล่าคุณแม่แม่ได้ทำตามกัน

1. ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็น ซึ่งจะช่วยยืดกล้ามเนื้อหลังที่หดเกร็งให้คลายตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเล่นโยคะ ถือเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยจัดท่วงท่าและปรับสมดุลของร่างกายได้เป็นอย่างดี
2.จัดท่าทางการอุ้มลูกน้อยให้ถูกต้องและให้นมอย่างถูกวิธี โดยอุ้มลูกน้อยให้ใกล้ตัวมากที่สุดและอย่านั่งหลังงอ หากเมื่อยหรือเกิดอาการล้าให้สลับแขนในการอุ้มเพื่อลดอาการปวด รวมถึงการเลือกใช้โต๊ะหรือเตียงที่มีความสูงในระดับที่พอเหมาะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องก้มหรือโน้มตัวลงไปหาลูกมากจนเกินไป
3.นวดบำบัด นวดประคบร้อน ร่วมกับการนวดด้วยน้ำมันสมุนไพร หรือน้ำมันที่มีกลิ่นหอมช่วยผ่อนคลาย ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดให้เบาลงได้
4.กินแคลเซียมเสริม หรือดื่มนมเป็นประจำ รวมถึงเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินและเกลือแร่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้แข็งแรง

ทั้งนี้คุณแม่ควรดูแลโครงสร้างร่างกายให้ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการแบกรับน้ำหนักที่จะเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 9 เดือน และควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูโครงสร้างร่างกายตั้งแต่ระยะ 1-2 เดือนหลังคลอด และไม่ควรทิ้งช่วงนานเกิน 3 เดือน เพราะอาการอาจสะสมจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105