ยิ่งอายุมาก…ทำไมยิ่งมีปัญหาเรื่องการมองเห็น
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
21-ธ.ค.-2565
title แม้ว่าเราอาจจะพอดูแลรักษาความหย่อนคล้อยของหน้าตาและผิวพรรณให้อ่อนเยาว์กว่าอายุได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับอายุที่มากขึ้นอย่างเด่นชัดและยากที่รักษาให้คงสภาพเดิม ก็คือคุณภาพการมองเห็น หรือว่า “สายตา” นั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 40 ปีขึ้นไป จะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว เช่น อาจมีสายตายาว มองไม่ชัดในเวลากลางคืน เห็นภาพเบลอ สู้แสงไม่ได้ หรือเห็นภาพซ้อน เป็นต้น

มองเห็นไม่ชัด…เกิดจากอะไร?
ด้วยวัยที่มากขึ้น ทำให้ดวงตาที่ใช้งานมาอย่างยาวนานเสื่อมสภาพลง เกิดภาวะเลนส์ตาแข็งตัว มากขึ้นตามวัย และเมื่อความยืดหยุ่นของเลนส์ตาลดน้อยลง ก็ทำให้ความสามารถในการมองเห็นมีกำลังลดน้อยลง (Accommodation is lessened) ไปด้วย ความคมชัดในการมองจึงแย่ลงนั่นเอง

ตาพร่า มองไม่ชัด…อาการเริ่มต้นและปัญหาสายตาในสูงวัย
ในระยะแรก อาการอาจไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นชัดมากนัก แต่จะรู้สึกว่าเวลานั่งอ่านหนังสือ หรือดูอะไรนานๆ จะต้องพักขยี้ตาหรือกระพริบตาถี่ๆ อยู่บ่อยๆ มีอาการตาพร่า มองโฟกัสภาพไม่ชัด หรือต้องใช้ระยะในการมองที่ไกลออกไป ซึ่งอาการเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตได้ว่าแปลกไปจากเดิม

ถ้าไม่รักษา…จะเป็นอย่างไร?
อาการดังกล่าว หากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้รู้สึกปวดศีรษะทุกครั้งที่ใช้สายตา บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตราพร่า หรือน้ำตาไหลร่วมด้วย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถึงแม้จะไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็นได้ชัดโดยตรงหรือรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ตาบอด แต่ก็สามารถทำให้เกิดโรคทางตาอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคต้อกระจก ต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อมได้

เพราะวันเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง อายุจึงเพิ่มขึ้นทุกวัน พร้อมกับคุณภาพสายตาที่แย่ลงทุกที การดูแลรักษาดวงตาจึงควรเริ่มทำตั้งแต่เนิ่นๆ โดยหมั่นเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองปัญหาสายตา และหากพบความผิดปกติใดๆ ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจรักษาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการมีสายตาที่ดีย่อมทำให้มีคุณภาพชีวิตและดูแลตัวเองได้ดีไปอีกนาน



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
คลินิกอายุรกรรม อาคาร 5 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5188, 5189