“ลำไส้กลืนกัน” โรคที่เกิดได้…แม้ในเด็กแข็งแรง
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
18-ต.ค.-2565
title “ลำไส้กลืนกัน” เป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายที่มักพบในเด็กเล็ก ที่สำคัญมักเกิดกับเด็กที่ค่อนข้างแข็งแรง จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลและสังเกตลูกน้อยเป็นพิเศษ

โรค “ลำไส้กลืนกัน” คือ…
เป็นโรคที่จุดเริ่มต้นจากต่อมน้ำเหลืองในลำไส้โตขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่อาจเกิดจากไข้หวัดหรือเด็กมีอาการลำไส้อักเสบเบื้องต้นอยู่แล้ว จนทำให้ส่วนหนึ่งของลำไส้ที่อยู่ต้นกว่า เคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในลำไส้ที่อยู่ปลายกว่า โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ แต่อาการนี้จะทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ จนทำให้เด็กมีอาการปวดท้องตามมา และส่วนมากมักเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงอายุ 4-12 เดือนมากกว่าในช่วงอื่นๆ แต่ก็สามารถพบได้จนถึงเด็กวัย 2 ขวบ

จุดสังเกต…ความผิดปกติ
เด็กจะมีอาการปวดท้องที่ค่อนข้างทรมาน ถ้าเป็นวัยทารก จะสังเกตจากการร้องกวนผิดปกติ บางครั้งจะเป็นลักษณะของการกรีดร้อง พร้อมกับอาการกระสับกระส่ายเป็นช่วงๆ ถ้ามีอาการค่อนข้างหนักจะเริ่มอาเจียนออกมาเป็นสีเขียวซึ่งเป็นสีของน้ำดีที่ปนออกมาด้วย บางครั้งอาจขับถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด เพราะเกิดจากส่วนของลำไส้ที่ตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงนั่นเอง ที่สังเกตได้ชัดอีกอย่างก็คือ เด็กจะเริ่มตัวซีด มือเท้าเกร็ง ถ้าหากมีอาการซึมและเป็นไข้ร่วมด้วย นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่ามีอาการติดเชื้อแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งค่อนข้างอันตราย



ไม่ต้องรอเวลา…ให้รีบมารักษาดีที่สุด
เพราะเมื่อเป็นลำไส้กลืนกันต้องหาทางรักษาเป็นการด่วน โดยแนวทางการรักษาจะมี 2 อย่างคือ
1. การดันลำไส้โดยใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก ทำให้ลำไส้ที่กลืนกันเคลื่อนตัวออกจากลำไส้ส่วนปลาย วิธีนี้จะทำได้โดยไม่ต้องใช้การผ่าตัด
2. การผ่าตัด เพื่อให้คุณหมอดันลำไส้ส่วนที่กลืนกันให้คลายตัวออกจากกัน ในกรณีที่การดันลำไส้ไม่ได้ผล หรือบางกรณีที่อาการค่อนข้างหนัก มีลำไส้บางส่วนตายและติดเชื้อแทรกซ้อนแล้ว ต้องรีบรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นการด่วน

ซึ่งก่อนจะทำการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง คุณหมอจะต้องทำการตรวจร่างกายเพื่อหาตำแหน่งของลำไส้ที่กลืนกันนี้เสียก่อน โดยอาจจะใช้การ คลำช่วงช่องท้อง แล้วส่ง ตรวจทำอัลตร้าซาวน์ และสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสีทางเอ็กซ์เรย์หรือใช้ลม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำมากขึ้น

หากปล่อยทิ้งไว้อาจอันตรายกว่าที่คิด เพราะหากเด็กมี “อาการลำไส้กลืนกัน” ที่ค่อนข้างหนัก นอกจาก “ลำไส้” บางส่วนเน่าเสียแล้ว ที่แย่ที่สุดก็ คือ ลำไส้นั้นอาจเกิดการแตกได้ ทางที่ดีคือควรรีบนำส่งแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาอย่างถูกต้องให้เร็วที่สุด


สอบถามรายละเอียด
ศูนย์กุมารเวช อาคาร 3 ชั้น 2

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 3220 – 3221