โรคอ้วนในเด็ก อย่ามองเป็นเรื่องเล็ก
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
16-ม.ค.-2566
<span style="font-family: DBHeavent; font-size: 18pt;">title </span>


ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมการเลี้ยงดู และสภาพสังคมที่เร่งรีบ อาจส่งผลกระทบถึงพฤติกรรมการกินที่ไม่ค่อยเฮลธ์ตี้ซักเท่าไหร่

 

จากที่เคยทำกับข้าวกินเอง ซึ่งควบคุมและเลือกสรรได้ดีกว่า ก็เปลี่ยนไปกินอาหารนอกบ้านประเภทฟาสต์ฟู้ด อาหารตามสั่ง รวมถึงเครื่องดื่มชงหวานกันมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กยุคใหม่ต้องเผชิญกับปัญหา ‘โรคอ้วน’ แล้วเราจะรับมือหรือแก้ปัญหา ‘เด็กอ้วน’ ได้อย่างไร? นพ.สุรพงษ์ ลีโทชวลิต กุมารแพทย์ ประจำศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กัน

 

โรคอ้วนในเด็กษกำลังกลายเป็นปัญหาระดับโลก

ถ้าในประเทศไทยมีงานวิจัยพบว่า อัตราภาวะเด็กอ้วนในไทยได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2540 พบว่า มีจำนวนเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า และในปี 2552 พบว่า

  • เด็กในช่วงอายุ 1-5 ขวบ มีเด็กอ้วนถึงร้อยละ 8.5
  • เด็กในช่วงอายุ 6-11 ปี มีเด็กอ้วนร้อยละ 8.7 และ
  • เด็กในช่วงอายุ 11-14 ปี มีเด็กอ้วนร้อยละ 11.9

ซึ่งจากตัวเลขนี้ จะเห็นว่า เมื่อเด็กยิ่งโตขึ้น อัตราเสี่ยงที่เด็กจะกลายเป็นเด็กอ้วนก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น จึงนับว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่เราไม่ควรมองข้าม นี่ยังไม่รวมถึงสถิติล่าสุดที่บอกว่าในปัจจุบันมีเด็กอายุ 8-15 ปี เข้าข่ายเป็นโรคอ้วนมากถึง 340 ล้านคนทั่วโลก และเด็กไทยติดอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนเลยทีเดียว

 

สาเหตุของเด็กอ้วน

1. บริโภคอาหารเกินความจำเป็น ด้วยสังคมปัจจุบันเป็นชุมชนเมืองมากขึ้น การขนส่งดีขึ้น มีความเจริญเข้าถึงทุกที่ มีร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารกระจายไปทั่ว ทำให้เด็กๆ เข้าถึงของกินได้ง่ายมากและแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งน้ำอัดลม น้ำหวาน ลูกอม ขนมกรุบกรอบ หรือแม้แต่การสั่งอาหารให้ไรเดอร์มาส่งถึงบ้านก็มีส่วนให้มีการบริโภคอาหารที่มากขึ้น

 

2. ร่างกายขาดการเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวน้อย ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกในหลายๆ ด้าน ทำให้เด็กๆ นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือ และจอทีวีได้ทั้งวัน การขยับร่างกายหรือออกกำลังกายจึงลดลงกว่าเด็กๆ ในอดีต ที่มีการออกไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อนๆ จึงส่งผลให้มีเด็กมีโอกาสอ้วนเพิ่มขึ้น

 

3. อ้วนเพราะพันธุกรรม เด็กอ้วนบางคนอ้วนเพราะพ่อแม่อ้วน เมื่อร่างกายมียีนอ้วน เด็กก็จะเป็นเด็กอ้วนได้ง่าย แต่ก็อาจจะไม่ได้เสมอไป เพราะเด็กที่อ้วนเพราะพันธุกรรมนั้นมีไม่มาก ส่วนใหญ่สาเหตุของความอ้วนมักเกิดจากพฤติกรรมการกินและการเลี้ยงดูมากกว่า

 

4. เด็กที่กินนมผง มีโอกาสที่จะอ้วนมากกว่าเด็กที่เลี้ยงโดยนมแม่ เนื่องจากในนมผงบางชนิดอาจมีไขมันและโปรตีนบางประเภทที่ให้พลังงานสูง หรือมีการสะสมที่ทำให้เด็กเกิดโรคอ้วนได้ง่าย

 

ผลกระทบทางสุขภาพกับเด็กที่เป็นโรคอ้วน

1. นอนกรน และอาจส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เด็กอ้วนจำนวนมากมักจะหายใจติดขัดเวลานอน จึงส่งผลให้เด็กนอนกรน บางครั้งทำให้นอนหลับไม่สนิท หลับไม่ดี รวมถึงหากเด็กอ้วนมากและหายใจติดขัดรุนแรง อาจส่งผลร้ายแรงจนถึงขนาดที่ว่าทำให้ ‘หยุดหายใจขณะนอนหลับ’ ก็ได้เลยทีเดียว

 

2. เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เด็กอ้วนจะมีภาวะต่อต้านอินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ง่าย และเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้ง่ายเมื่อเด็กโตขึ้น

 

3. กระดูกและข้อผิดปกติ โดยเฉพาะข้อเข่าและข้อสะโพก จากการที่ต้องรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ทั้งยังส่งผลให้เด็กเสียขาดความมั่นใจ และมีปัญหาบุคลิกภาพอีกด้วย

 

4. เป็นเด็กขาดความมั่นใจ เนื่องจากผิวหนังตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อพับจะกลายเป็นปื้นสีดำเหมือนคนเป็นเบาหวาน จากการเกิดภาวะที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน และในบางครั้งเด็กที่อ้วนก็มักจะโดนเพื่อนล้อ จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ ไม่กล้าเข้าสังคม ส่งผลต่อการเรียน และการเรียนรู้

 

จะเห็นได้ว่าโรคอ้วนในเด็กนั้นส่งผลกระทบทางสุขภาพมากกว่าที่คิด หากพบว่าลูกเข้าข่ายเด็กอ้วน ควรรีบหาทางแก้ไขเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพที่จะตามมาในภายหลัง

 

แนวทางแก้ไขษโรคอ้วนในเด็ก

เมื่อคุณพ่อคุณแม่พาเด็กมาพบคุณหมอ คุณหมอจะทำการตรวจสุขภาพของเด็กๆ เพื่อค้นหาปัญหาว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือมีความเสี่ยงในด้านใดบ้าง เช่น ตรวจความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินภาวะเบาหวาน และหากมีความเสี่ยง ก็ต้องดูแลรักษาตามแนวทางที่เหมาะสม

 

กรณีที่ไม่ได้มีปัญหาอื่นแทรกซ้อน คุณหมอก็จะให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ที่มาปรึกษา โดยหลักๆ คือ ให้ความรู้ด้านการคุมอาหาร โดยให้จำกัดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เน้นการกินผักและผลไม้ที่ไม่มีรสหวานจัดแทนมากขึ้น ที่สำคัญคือการเลือกอาหารเข้าบ้าน ไม่สะสมหรือเก็บอาหารที่สร้างความอ้วนไว้ในตู้เย็นเป็นจำนวนมาก เพราะจะเป็นเรื่องง่ายที่เด็กๆ จะหยิบรับประทานบ่อยครั้ง และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรจัดสรรเวลาให้ลูกได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ เพราะจะช่วยในเรื่องของการเผาผลาญพลังงาน ทั้งยังส่งเสริมให้เด็กๆ เติบโตอย่างแข็งแรงอีกด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลโดย

นพ.สุรพงษ์ ลีโทชวลิต

กุมารแพทย์ ประจำศูนย์กุมารเวช

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4