เตรียมพร้อมรับมือ 24 ชม. เมื่อลูก “อาหารติดคอ”
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
18-ต.ค.-2565
การเสียชีวิตจาก “ภาวะทางเดินหายใจ” หรือ “หลอดอาหารถูกอุดกั้น” จากสิ่งแปลกปลอม (choking) เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีความพร้อม ความรู้ความเข้าใจ ในการรับมือและป้องกันเบื้องต้น ก็จะช่วยให้เด็กมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น หรือหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เด็กก็จะได้รับการดูแลและช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

อาการเตือน เมื่อลูก “อาหารติดคอ”

  • สำลัก หรือมีอาการไออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

  • หายใจไม่ออก หรือหายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด

  • พูดไม่มีเสียงออกมา หรือพูดได้ลำบาก

  • หายใจเร็วผิดปกติ

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น…เมื่อลูกอาหารติดคอ
1. ให้รีบช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยใช้วิธีจับเด็กนอนคว่ำและตบแรงๆ บริเวณทรวงอกด้านหลังระหว่างกระดูกสะบัก จนอาหารกระเด็นหลุดออกมา ห้ามใช้นิ้วมือล้วงช่องปาก หรือจับเด็กห้อยศีรษะและตบหลังเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เศษอาหารตกมาอุดที่กล่องเสียงจนขาดอากาศหายใจได้
2. ในกรณีที่สำลักแล้วหายใจไม่ออก ริมฝีปากเขียว ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน อาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ควรรีบใช้วิธีช่วยเหลือแบบ Heimlich โดยให้ลูกนั่งหรือยืนโน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย คุณแม่ยืนทางด้านหลัง ใช้แขนสอดสองข้างโอบลำตัว กำมือวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่ ดันมือลงตรงตำแหน่งลิ้นปี่อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดแรงดันในช่องท้องดันให้อาหารหลุดออกมา
3. สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยลูกจากภาวะฉุกเฉินดังกล่าวนั้น คุณแม่จะต้องตั้งสติให้ดีๆ รีบช่วยเหลือลูกโดยเร็วที่สุดอย่างถูกวิธี เพราะหากสมองของลูกขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที ก็อาจทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทราตลอดไป

วิธีป้องกัน…ไม่ให้อาหารติดคอ

  • เก็บอาหารชิ้นเล็กๆ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด ลูกอม ข้าวโพดคั่ว องุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ ฯลฯ ให้พ้นมือเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการที่เด็กอาจจะหยิบกินโดยที่ไม่ได้อยู่ในสายตาและความดูแลของพ่อแม่

  • ควรสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่กินอาหารขณะนอนราบ รวมถึงไม่ให้พูดหัวเราะ หรือวิ่งเล่นขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก

  • ไม่ควรให้เด็กเล็กกินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลม ลื่นและแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก รวมไปถึงปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ที่ติดกระดูก และผลไม้ที่มีเม็ดขนาดเล็ก ควรเอาเม็ดออกพร้อมตัดแบ่งเป็นคำเล็กพอที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ เนื่องจากเม็ดของผลไม้มีความลื่นและมีโอกาสหลุดเข้าหลอดลมได้ง่าย



สอบถามรายละเอียด
ศูนย์กุมารเวช อาคาร 3 ชั้น 2

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 3220 – 3221