อย่ากังวล เมื่อลูกน้อยเป็น “โคลิค”
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
17-ต.ค.-2565
title เมื่อครั้งแรกที่เห็นลูกน้อยลืมตาออกมาดูโลก สิ่งแรกที่ทำให้เรารับรู้ได้เลยว่าอย่างน้อยลูกของเราก็ยังปกติดีอยู่ก็คือ เสียงร้องของเด็กตั้งแต่แรกเกิด เเละเมื่อถึงเวลาที่ลูกน้อยออกมาจากท้องแม่ไม่ว่าจะด้วยการผ่าตัดหรือในแบบธรรมชาติก็ตามจะต้องส่งเสียงร้องออกมาให้แม่ได้ยินเสมอ และตั้งแต่นั้นมาเสียงร้องของลูกน้อยก็คือ คำพูดที่ลูกน้อยใช้สื่อสารกับแม่นั่นเอง แต่การที่ลูกร้องนานมาก หรือแทบจะตลอดเวลาจะสามารถบอกอะไรได้บ้างและนั่นใช่อาการของ “โคลิค” หรือเปล่า มาเช็กกัน

เด็กร้องบ่อยและนานมากปกติหรือไม่ ?
ที่ลูกน้อยของคุณร้องบ่อยและนานมาก บางครั้งร้องจนเสียงแหบ แม้ว่าจะดูเหมือนไม่ปกติ เหมือนลูกน้อยต้องการบอกอะไรกับพ่อแม่บางอย่าง นั่นคือความจริงเพราะลูกของคุณกำลังต้องการบางอย่างจากคุณ เพียงแต่แค่สื่อสารออกมาเป็นคำพูดไม่ได้เท่านั้นเอง การที่เด็กร้องบ่อย นาน และเป็นเวลาถือว่าเป็นเรื่องปกติ เราอาจจะเรียกว่าเด็กเป็นโคลิคก็ได้สามารถพบได้ในเด็กทั่วๆ ไปตั้งแต่ 3 สัปดาห์เป็นต้นไป

ทำไม ? ลูกน้อยถึงเป็นโคลิค
แม้ว่าแพทย์จะยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าโคลิคเกิดจากอะไร แต่โดยปกติทั่วไปแล้วเด็กที่เป็นโคลิคมักจะเกิดจากการกลืนอากาศเข้าไปในระหว่างดูดนมมากเกินไปทำให้แน่นหรือจุกท้อง ไม่สบายตัว หรือเกิดจากการที่ลำไส้หรือระบบย่อยอาหารมีปัญหาเด็กจึงปวดท้อง ซึ่งสองสาเหตุหลักๆ นี้เป็นสาเหตุที่มักพบได้บ่อยในลูกน้อยที่เป็นโคลิค



อาการโคลิคเป็นยังไง
หากลูกของคุณกำลังร้องไห้อย่างหนักหน่วง หน้าแดง กำมือแน่น งอตัว ชูขาขึ้นมาถึงหน้าอก และร้องนานเป็นพิเศษ คุณสามารถสันนิษฐานได้ว่า นี่แหละอาการโคลิคของลูกน้อย แต่อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้จะค่อยๆ บรรเทาหรือหายไปเมื่อลูกของคุณอายุได้ประมาณ 3 เดือน การแสดงออกต่างๆ จะเริ่มชัดเจนขึ้น การร้องไห้ก็จะลดลง

จะทำอย่างไร… เมื่อลูกน้อยเป็นโคลิค
เมื่อเราทราบแล้วแหละว่าอาการนี้คือ อาการของโคลิคแน่นอน พ่อแม่อาจจะต้องมีวิธีผ่อนคลายหรือปลอบโยนลูกน้อยด้วยวิธีต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกเช่น ค่อยๆ โยกตัวลูกไปมาเบาๆ นวดอย่างนุ่มนวลเบาๆ ที่ท้องหรือลูบที่หลังเพื่อให้ลูกรู้สึกดีขึ้น หรือหากจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอาจจะต้องให้ลูกดื่มนมแม่อย่างสม่ำเสมอ หรือในระหว่างการให้นมลูกควรระวังไม่ให้ลูกสูดอากาศเข้าไป เพราะอาจจะทำให้เด็กจุก และหลังป้อนนมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรจับเด็กนั่งลงซักพักหรืออุ้มพาดบ่าให้เด็กได้เรอเอาลมที่สูดเข้าไปออกมา เพียงเท่านี้ลูกน้อยก็จะกลับมาสดใสร่าเริงได้เหมือนเดิมแล้ว



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์กุมารเวช  อาคาร 3 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร.02-514-4141 ต่อ 3320-3221
Line id : @Paolochokchai4