เพิ่งผ่าตัดกระดูก…แต่อยากออกกำลังกาย ทำได้หรือไม่?
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
13-ธ.ค.-2561
อกจากการดูแลและเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดจะเป็นเรื่องสำคัญแล้ว การฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระดูกและข้อ การออกกำลังกายถือเป็นสิ่งที่จำเป็นตลอดระยะเวลาการฟื้นตัวของร่างกายหลังการผ่าตัดและในชีวิตภายหลัง

ความสำคัญของการฟื้นฟูร่างกาย…ในคนที่เข้ารับการผ่าตัดกระดูกและข้อ

การฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัดกระดูกและข้อด้วยการออกกำลังกาย สามารถช่วยลดอาการบวมของบาดแผล รวมถึงยังช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ป้องกันการหดของเนื้อเยื่อพังผืด ป้องกันข้อติดแข็งและกล้ามเนื้อลีบ และที่สำคัญคือช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกสมานติดกัน อันเป็นผลให้คนไข้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติเร็วยิ่งขึ้น

หลังผ่าตัด…ออกกำลังกายได้

การออกกำลังกายหลังการผ่าตัดกระดูกนั้น ขอเพียงควรระมัดระวังกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกมากๆ หรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกหนักๆ เป็นพิเศษ และควรที่จะเริ่มออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง หากลองทำแล้วมีอาการเจ็บ บวม แดง นั่นแปลว่ามากเกินไป ควรผ่อนความแรงลงหรือเปลี่ยนกิจกรรม เพราะหลังจากหลังจากเข้ารับการผ่าตัด เซลล์บางส่วนอาจมีอาการติด ยึด หรือยังไม่เข้าที่เข้าทาง ต้องค่อยๆ สังเกตอาการ ลดหรือเพิ่มความหนักของกิจกรรมตามความเหมาะสม เนื่องจากร่างกายต้องการเวลาในการฟื้นฟู


คำแนะนำง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง

1.การผ่าตัดกระดูกขาหรือข้อเท้าหัก

ออกกำลังกายเบาๆ ด้วยการหัดเดินโดยมีเครื่องมือช่วยเดินในระยะแรกก็ถือเป็นวิธีที่จำเป็นอย่างยิ่ง ควรฝึกเดินด้วยการไม่ลงน้ำหนักโดยใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ ให้คุ้นชินเสียก่อนจนกว่าจะคล่อง ซึ่งการฝึกเดินกับอุปกรณ์เสริมจะช่วยให้ลงน้ำหนักได้อย่างถูกต้อง เป็นการช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูกให้สามารถสมานกันได้เร็วยิ่งขึ้น

2.การผ่าตัดจากการแขนหัก

แพทย์อาจสั่งห้ามเคลื่อนไหวอวัยวะบางส่วนหลังการผ่าตัด แต่อวัยวะส่วนอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากการถูกสั่งห้ามก็ควรมีการขยับเขยื้อนบ้าง หากยังสามารถกำและแบมือได้ก็ควรพยายามทำบ่อยๆ จะทำให้มีการหดตัวของกล้ามเนื้อและช่วยให้กล้ามเนื้อมีการบีบรัดเพื่อขับไล่ของเหลวกลับสู่ระบบไหลเวียนเลือดและน้ำเหลืองได้ดีขึ้น ส่งผลให้อาการบวมลดลง และสามารถช่วยลดความเจ็บปวดได้ รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อแขนและช่วยทำให้กระดูกสมานกันเร็วขึ้น

3.การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก

เน้นการออกกำลังเกร็งกล้ามเนื้อ โดยการเหยียดกล้ามเนื้อที่งอในท่านอนโดยมีหมอนหรืออุปกรณ์กางขากั้นไว้ระหว่างขาสองข้าง รวมถึงการยืดกล้ามเนื้องอข้อสะโพกเพื่อป้องกันการหดยึด โดยการงอเข่าข้างที่ไม่ผ่าตัดกอดเข่าชิดอกและเกร็งกล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพกข้างที่ผ่าตัดอยู่กับที่ รวมถึงการฝึกยืนและเดินโดยใช้เครื่องช่วยเดินหรือไม้ค้ำยัน และเริ่มออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ไม่มีการกระแทกของข้อสะโพก เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นรำบอลล์รูม เดินขึ้นลงบันได และตีกอล์ฟได้

4.การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

ออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อต้นขาและข้อเข่า ด้วยการนอนราบเกร็งกล้ามเนื้อเข่าและกดเข่าลงบนที่นอนให้มากที่สุด เพื่อให้กล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ รอบข้อเข่าสามารถสมานแผลได้เร็วขึ้น

5.การผ่าตัดกระดูกสันหลัง

เดินในบริเวณบ้านทุกวันให้บ่อยเท่าที่จะทำได้ เพิ่มระยะทาง และเวลาขึ้นวันละน้อย โดยไม่ลืมสวมอุปกรณ์พยุงหลังหรือคอและใช้ไม้เท้าค้ำยัน และหลังการผ่าตัดไปได้ 1 เดือน ก็สามารถเพิ่มการออกกำลังกายให้มากขึ้นได้ เช่น ว่ายน้ำ ถีบจักรยานอยู่กับที่ และการออกกำลังกายที่ไม่หักโหม

แม้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันจะทำให้การผ่าตัดกระดูกและข้อมีขนาดบาดแผลที่เล็กลงและไม่น่าเป็นห่วงมาก คนไข้จึงสามารถฟื้นตัวจากแผลผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว แต่ในส่วนของการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกให้สมานติดกัน ยังต้องอาศัยความเข้าใจ ความเอาใจใส่ของคนไข้และคนรอบข้าง ซึ่งการออกกำลังกายหลังการผ่าตัดจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่ไม่อาจมองข้าม และยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วยิ่งขึ้น


สอบถามรายละเอียด

ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105