“สูบบุหรี่” ทำร้าย “ชีวิต” คุณ ได้มากกว่าที่คิด
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
28-ต.ค.-2565
พฤติกรรมการเสพติด “บุหรี่” ในปัจจุบันถือว่าเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ เนื่องจากโทษของการ “สูบบุหรี่” ตลอดจนการสูดดมควันบุหรี่ ส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ได้มากมาย หากคุณคือคนหนึ่งที่เสพติดการสูบบุหรี่ นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้!!

สูบบุหรี่ระดับไหน? เรียกว่า…เสพติดนิโคติน!

  • สูบในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น หรือสูบติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ไม่สามารถเลิกสูบ หรือ ไม่สามารถควบคุมปริมาณการสูบให้เป็นไปตามที่ตั้งใจได้
  • ลดหรือเลิกกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม โดยมีผลมาจากการสูบบุหรี่
  • สูบในปริมาณเท่าเดิม แต่เกิดผลตอบสนองน้อยลง หรือเกิดอาการดื้อต่อนิโคติน
  • แม้อยู่ในสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย แต่ก็ยังคงสูบเพื่อตอบสนองความอยาก
  • หากไม่ได้สูบบุหรี่เกิน 3 วัน ร่างกายที่ขาดนิโคตินจะแสดงอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวกศีรษะ กระวนกระวาย หงุดหงิด ทำให้ผู้สูบบุหรี่ต้องกลับไปเติมนิโคตินเข้าร่างกายอีกครั้ง

“สูบบุหรี่” เสี่ยงสารพัดโรคร้ายรุมเร้า

มีรายงานจากหลายผลการศึกษาว่าการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องสะสมนานหลายปี ไม่เพียงก่อให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด แต่ยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ตลอดจนโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากวัณโรค เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานสูงขึ้น 30-40% จอตาเสื่อม การตั้งครรภ์นอกมดลูก โรครูมาตอยด์ โรคเส้นเลือดสมอง หรือสรุปโดยรวมว่าการสูบบุหรี่มีผลเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคมะเร็งได้มากถึง 12 อวัยวะ และโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกกว่า 17 โรค

แค่ “เลิกบุหรี่” ก็ได้สุขภาพดีๆ กลับคืนมา

หากสามารถอดทนต่ออาการขาดนิโคตินในช่วงสัปดาห์แรกได้ หลังจากหยุดสูบบหรี่ไปประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ระบบไหลเวียนในร่างกายจะเริ่มดีขึ้น รวมทั้งหลังเลิกสูบบุหรี่ 30 วัน ขนเส้นเล็กๆ ที่เรียกว่า “ซีเลีย” จะค่อยๆ ซ่อมแซมตัวเอง เมื่อขนกลับมาทำงานได้เป็นปกติ สามารถทำหน้าที่ขจัดเมือกและสิ่งสกปรกต่างๆ ออกไปจากปอดได้ ปอดก็จะกลับมาทำงานได้ดีขึ้นอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะปอด หลอดเลือด หรืออวัยวะต่างๆ อาจไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การหยุดสูบบุหรี่จะช่วยให้ร่างกายสมดุลมากขึ้น คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นตามไปด้วย


สอบถามรายละเอียด
คลินิกอายุรกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โทร 02- 514-4141 ต่อ 1103 – 1104