โรคไข้หูดับ ความเสี่ยงที่อันตรายถึงชีวิต
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
13-ธ.ค.-2565

หลายๆคนอาจจะสงสัยว่า โรคไข้หูดับ มีสาเหตุมาจากอะไร และติดต่อได้อย่างไร แต่ความจริงๆแล้วเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก เพราะมีสาเหตุมาจากการที่รับประทานอาหารประเภท ปิ้งย่าง ชาบู หมูกระทะ สุกี้หรือจิ้มจุ่ม แล้วใช้ตะเกียบอันเดียวกันคีบหมูดิบลงหม้อ และนำตะเกียบนั้นคีบอาหารเข้าปาก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เปรียบเสมือนเรารับประทานหมูดิบ ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ และหากมีอาการรุนแรงก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้


โรคไข้หูดับ เกิดจากอะไร ?

เกิดจากการติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในหมูเกือบทุกตัว โดยเชื้อชนิดนี้จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากหมูเกิดอาการป่วยเชื้อชนิดนี้ก็จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนทำให้หมูตัวนั้นตาย และสามารถติดต่อไปสู่คนได้ 2 ทาง คือ

1. เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ

2. การสัมผัสเนื้อหมูที่มีเชื้อโดยตรง จากทางบาดแผล เยื่อบุตา และสัมผัสสารคัดหลั่งของหมู


อาการโรคไข้หูดับ ที่ต้องรีบพบแพทย์

จะมีระยะฟักตัวในร่างกายก่อนที่จะแสดงอาการไม่เกิน 3-5 วัน ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้สูง ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศรีษะจนทรงตัวไม่ได้ บางรายที่มีอาการรุนแรงก็จะส่งผลให้เยื้อหุ้มสมองอักเสบ และเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้ประสาทหูอักเสบจนหูดับหรือหูหนวก ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ให้รีบมาพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและส่งผลให้อันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย


การรักษาโรคไข้หูดับ

รักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ และรักษาแบบประคับประคองอาการของผู้ป่วยไม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น คือ ลดไข้ ลดอาการปวด ลดอาการเวียนศรีษะ ร่วมกับการให้สารอาหารหรือเกลือแร่ต่างๆ ให้กับผู้ป่วย


การป้องกันโรคไข้หูดับ

1. หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูดิบ โดยจะต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส และใช้เวลาอย่างน้อย 10 นาที ก่อนรับประทาน

2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อหมูสด หรือยังไม่ผ่านการปรุงสุก ด้วยการใส่ถุงมือ และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

3. หลีกเลี่ยงการนำเนื้อหมูที่ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ มารับประทาน

4. หลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาวหรือสีคล้ำ ควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน สะอาด ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือกรมอนามัย

5. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อันเดียวกันที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุก และเนื้อหมูดิบ

6. หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ท้องเสีย หลังจากการกินเนื้ออาหารสุกๆดิบๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

จะเห็นได้ว่า ก่อนทำอาหารทุกครั้งจะต้องให้ความสำคัญในการทำความสะอาดเนื้อสัตว์ และต้องผ่านการปรุงสุก เพื่อช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรีย และความลดเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจตามมา


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
คลินิกอายุรกรรม อาคาร 5 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5188, 5189