“สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก” มักเป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กเล็ก เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หยิบสิ่งของชิ้นเล็กๆ ยัดเข้าไปในจมูก แต่บางครั้งก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน เช่น เกิดจากการสำลักน้ำแล้วมีเศษทรายเข้าจมูก หรือมีแมลงบินเข้าจมูกโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งหากปฐมพยาบาลไม่ถูกวิธี อาจเผลอทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปลึกมากยิ่งขึ้น..หรือหลุดเข้าไปอุดตันหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้!
“สิ่งแปลกปลอม” แบ่งออกเป็น 2 ชนิด - สิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นเองภายในจมูก เช่น ก้อนเลือดที่เกิดจากการมีเลือดกำเดาไหล หรือการมีน้ำมูกที่เหนียวข้นและแห้ง
- สิ่งแปลกปลอมจากภายนอก อาจเป็นสิ่งมีชีวิต เช่น แมลง หรือปลิง หรืออาจเป็นสิ่งไม่มีชีวิต เช่น เศษกระดาษทิชชู ลูกปัด เมล็ดผลไม้ อย่างละมุด น้อยหน่า หรือถั่วชนิดต่างๆ
หายใจข้างเดียว น้ำมูกมีกลิ่น สัญญาณเตือนที่ต้องระวัง!
กรณีที่สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูกในเด็กเล็กๆ พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรสังเกตจากสัญญาณเตือนเบื้องต้น เช่น มีน้ำมูกไหลข้างเดียว เป็นๆ หายๆ และน้ำมูกนั้นมีกลิ่นเนื่องจากมีหนองปน มีเสมหะไหลลงคอ ไอบ่อยๆ ปวดจมูกข้างเดียวแบบเป็นๆ หายๆ และมักหายใจทางปากตลอดเวลา หากลูกมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะหากสิ่งแปลกปลอมหลุดจากโพรงจมูกเข้าไปในหลอดลม อาจอันตรายถึงเสียชีวิตได้
ข้อควรปฏิบัติ...เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก
1. ใช้มือปิดรูจมูกอีกข้างแล้วสั่งน้ำมูกแรงๆ เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาเอง
2. ห้าม! พยายามใช้คีมหรือเครื่องมือต่างๆ คีบเอาสิ่งแปลกปลอมออกมาเอง เพราะอาจจะดันสิ่งแปลกปลอมให้หลุดเข้าไปลึกถึงหลอดลมหรือปอด ซึ่งหากสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดตันหลอดลมอาจทำให้เสียชีวิตได้
3. กรณีที่สั่งน้ำมูกแล้วสิ่งแปลกปลอมไม่หลุดออกมา หรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ลึก ให้รีบไปพบแพทย์ในทันที
เนื่องจากในผู้ป่วยบางราย อาจต้องมีการนำสิ่งแปลกปลอมออกภายใต้การดมยาสลบ จึงควรงดน้ำและอาหารก่อนมาพบแพทย์ เพื่อป้องกันการสำลักเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอด
สอบถามรายละเอียด
คลินิก หู คอ จมูก อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1103 – 1104
.jpg)