มีรอยช้ำ เป็นจ้ำเลือด อาจเสี่ยงโรคเกล็ดเลือดต่ำ (ITP)
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
11-ก.ค.-2566

โรคเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีจำนวนเกล็ดเลือดที่ต่ำกว่าค่าปกติ ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 – 400,000 เกล็ด/ไมโครลิตร ซึ่งภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะ ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเกล็ดเลือดได้ตามปกติ เช่น มะเร็งเมล็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง และเกล็ดเลือดที่ถูกสร้างมาได้ปกติ แต่ถูกทำลายหรือถูกใช้ไปมากกว่าปกติ ทำให้เมื่อเจาะเลือดอาจพบว่าเกล็ดเลือดลดลง หรือเกล็ดเลือดต่ำ กว่าค่าปกติ

 

โรคเกล็ดเลือดต่ำ มีสาเหตุเกิดจากอะไร

โรคเกล็ดเลือดต่ำ จะพบได้ทั้งในเด็กเล็ก และเด็กโต ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกระตุ้นให้สร้างสารแอนติบอดี้ มาจับ และมาทำลายเกล็ดเลือดของตนเอง โดยส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่อาจเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส และการได้รับยาบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ยารักษาโรคมาลาเรีย หรือยาที่ใช้รักษาวัณโรค


อาการเสี่ยง โรคเกล็ดเลือดต่ำ

  • รอยช้ำจ้ำเลือดตามร่างกาย หรือมีจุดแดงใต้ผิวหนัง โดยไม่ใช่เกิดจากอบุติเหตุ หรือกระทบกระแทก
  • เลือดกำเดาออก
  • เลือดออกตามไรฟัน
  • มีประจำเดือนมากกว่าปกติ
  • อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือระบบประสาท ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อย


การดูแลสุขภาพ เมื่อเสี่ยงเป็น โรคเกล็ดเลือดต่ำ

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรม หรือการเล่นกีฬาที่อาจทำให้ได้รับแรงกระทบกระแทก เเล้วเลือดออกได้ง่าย เช่น ฟุตบอล มวย รักบี้
  • พยายามรักษาเนื้อรักษาตัวให้ห่างไกลจากเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจะมีเลือดออกทุกชนิด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามินซี โฟเลต และธาตุเหล็ก เพื่อช่วยเสริมสร้างการผลิตของเกล็ดเลือดให้แก่ร่างกาย
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวัน และงดดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการทำฟัน และเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม ห้ามใช้ไหมขัดฟัน
  • หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกหรือจามแรงๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)


การรักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำ

1. แพทย์จะมีการซักประวัติเบื้องต้น เช่น ก่อนหน้านี้มีการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีนมาก่อน 2-4 สัปดาห์หรือไม่ และตรวจหาตวามสมบรูณ์ของเลือด หากผลเลือดไม่มีภาวะซีดหรือเม็ดเลือดขาวผิดปกติ แต่มีแต่ภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างเดียว แพทย์อาจใช้ยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ ในการจับแอนตี้บอดี้ ซึ่งการตอบสนองต่อยาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละราย นอกจากนี้ยังมีการให้อิมมูโนโกลบูลินทางเส้นเลือด ซึ่งสามารถเพิ่มเกล็ดเลือดได้เร็วกว่าภายในเวลาประมาณ 1-2 วัน แต่จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำมากร่วมกับมีภาวะเลือดออกรุนแรง และต้องการให้เกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน

2. ผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวผิดปกติ หรือมีภาวะซีดโดยไม่ทราบสาเหตุ แพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันสาเหตุเกร็ดเลือดต่ำว่าเกิดจากอะไร เช่น การตรวจเจาะไขกระดูก เพื่อร่วมกันวางแผนการรักษาให้ตรงตามสาเหตุของผู้ป่วยในแต่ละราย

 

ทั้งนี้ หากสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าเสี่ยงเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำไหม สามารถเข้ามาปรึกษากับแพทย์ได้ รวมถึงในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน ก็ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจอันตรายถึงชีวิตได้ หรืออาจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

คลินิกอายุรกรรม อาคาร 5 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5188 - 5189