ภาวะแทรกซ้อนจาก “ไตวาย” อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต!!
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
04-ธ.ค.-2561
ไตวาย หรือ ไตล้มเหลว เป็นภาวะที่ไตทั้งสองข้าง สูญเสียการทำงาน ทำให้ไม่สามารถขับของเสียในร่างกายออกทางปัสสาวะได้ ทั้งยังไม่สามารถควบคุมความสมดุล ของน้ำและเกลือแร่ต่างๆ ไม่สามารถสร้างฮอร์โมน ที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและไขกระดูกได้ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย

โดย ไตวายแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามสาเหตุและระยะเวลาที่เกิด และไม่ว่าจะเป็นภาวะไตวายชนิดใด การเกิดอาการแทรกซ้อนล้วนมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้!!


ชนิดที่ 1: ไตวายเฉียบพลัน

คือ การที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมงหรือ 1-2 วัน หากได้รับการล้างไตและรักษาอย่างทันท่วงที ไตจะสามารถกลับมาฟื้นเป็นปกติได้ แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไตวายซ้ำได้ และไตจะค่อยๆ เสื่อมลงจนกลายเป็นไตวายเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วย “ไตวายเฉียบพลัน”

- ภาวะแทรกซ้อนไม่รุนแรง เช่น ภาวะฟอตเฟสในเลือดสูง, ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ, ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง หรือภาวะซีดเนื่องจากขาดฮอร์โมนอีริโทรพอยเอทิน ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้ไม่ดีเท่าที่ควร
- ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เนื่องจากไตไม่สามารถขับน้ำได้ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในกระแสเลือด ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตสูงและอาจเกิดภาวะหัวใจวายตามมาได้, ภาวะเลือดเป็นกรดที่ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้เช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ, ภาวะติดเชื้อง่ายและรุนแรงเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือไตถูกทำลายถาวรจากการรักษาล่าช้าและอาจกลายเป็นไตวายเรื้อรังในที่สุด


ชนิดที่ 2: ไตวายเรื้อรัง

เป็นภาวะที่ไตถูกทำลายต่อเนื่องมาแล้วหลายเดือนหรือหลายปี ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ ซึ่งสาเหตุของการเกิดไตวายเรื้อรังที่พบได้บ่อย คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ โดยมักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วย “ไตวายเรื้อรัง”

นอกจากอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนเช่นเดียวกันกับไตวายเฉียบพลันแล้ว ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ ปอดอักเสบ, เยื่อหุ้มปอดอักเสบ, ปลายประสาทอักเสบ, ภาวะต่อพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป, ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ซึ่งส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้ , ภาวะกระดูกพรุน ภาวะกระดูกอ่อน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่าย รวมไปถึงภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ป่วยเพศชาย