ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ ด้วยการเริ่มฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่เด็กอายุ 9 ปี
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
19-ส.ค.-2566

มะเร็งปากมดลูก คงเป็นโรคที่ผู้หญิงทุกคนอาจเคยได้ยิน หรืออาจรู้สึกกังวลว่าตัวเองจะเสี่ยงเป็นไหม แล้วมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะในแต่ละวันการใช้ชีวิตอาจมีความแตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์ ส่งผลให้หลายคนอาจเสี่ยงเป็นโดยไม่รู้ตัว แต่หากเรามีการป้องกันที่ดีพอ ก็จะช่วยให้ชีวิตห่างจากโรคร้ายเหล่านี้ได้

 

เชื้อ HPV ตัวร้ายที่ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็ง

ไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด สามารถเกิดการติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น ทางปาก ช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ติดเชื้อ เป็นหลักอย่างน้อย 80-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อติดเชื้อเซลล์ปากมดลูกก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งผู้หญิงที่ติดเชื้อมักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เป็นระยะเวลานาน แต่จะมาพบเมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว หรือมะเร็งอาจเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว

 

เชื้อ HPV ไม่ได้เสี่ยงเป็นแค่มะเร็งปากมดลูก

คุณผู้หญิงอาจคุ้นชินว่าเชื้อ HPV ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงแค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเชื้อ HPV สามารถก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ไม่ว่าจะ มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งทวารหนัก และหูดที่อวัยวะเพศ

 

วัคซีน HPV กี่สายพันธุ์

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV มี 3 ชนิด ได้แก่

  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ (ครอบคลุมสายพันธุ์ 16 และ 18) จะสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ (คลอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18) จะสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90% และป้องโรคหูดหงอนไก่ มะเร็งทวารหนักในเด็กผู้ชายได้ด้วย
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ (ครอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่พัฒนามาจากวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ ซึ่งช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก เเละหูดหงอนไก่ได้ถึง 99%

ทั้งนี้ การวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ไม่จำเป็นต้องฉีดเฉพาะในผู้หญิงเท่านั้น เพราะผู้ชายก็สามารถฉีดได้ เพื่อเป็นการป้องกันโรคติดเชื้อ HPV ในผู้ชาย เช่น มะเร็งในช่องปาก โรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนัก

 

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV  ต้องเริ่มฉีดตอนอายุเท่าไหร่

  • เริ่มฉีดวัคซีนปากมดลูกในผู้หญิงตั้งแต่อายุ 9-45 ปี โดยเน้นให้ฉีดในช่วงอายุ 9 – 14 ปี
  • เริ่มฉีดวัคซีนปากมดลูกในผู้ชายตั้งแต่อายุ 9-26 ปี โดยเน้นให้ฉีดในช่วงอายุ 9 – 14 ปี

 

ข้อดีของวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV

  • สามารถฉีดร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • ผลข้างเคียงน้อย อาจมีแค่อาการปวด บวม ไข้ แต่ก็สามารถหายได้เอง
  • ลดโอกาสการติดเชื้อ HPV ได้ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย
  • ป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

 

ต้องตรวจมะเร็งปากมดลูก ก่อนวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ไหม?  

สามารถฉีดได้เลย โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องตรวจภายในก่อน เพื่อหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพราะการฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันการติดเชื้อในอนาคต แต่การตรวจภายในเป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่อาจเกิดจากการติดเชื้อมาก่อนนี้ แต่อาจยังไม่แสดงอาการเตือนใดๆ

 

หากเคยติดเชื้อ HPV ควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV อีกหรือไม่?

หากเคยติดเชื้อ HPV มาก่อนการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ก็ยังถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการป้องกันติดเชื้อ HPV ในสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยติดมาก่อน หรือป้องกันการได้รับเชื้อซ้ำในกรณีที่เคยได้รับเชื้อ HPV และหายแล้ว

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเสี่ยงติดเชื้อ HPV

  • มีหูดขึ้น (พบได้บ่อย) มีทั้งลักษณะที่เป็นตุ่มนูน ตุ่มเรียบแบน โดยอาจเกิดขึ้นบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก อัณฑะ ทวารหนัก ขาหนีบ หรือขาอ่อน
  • มีอาการคันหรือแสบร้อนบริเวณที่ติดเชื้อ
  • มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ปริมาณมากกว่าปกติ
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ

 

หากคุณมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัย และหาแนวทางการป้องกัน หรือรักษาให้ตรงจุด ตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละรายบุคคล


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์สุภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5148 - 5220
Line id : @Paolochokchai4