เพราะการ “ท้องนอกมดลูก” นั้น โดยปกติแล้วมักเกิดขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งในบางครั้งตัวคุณแม่เองก็ยังไม่ทราบว่าตนเองกำลังท้อง! ทำให้คุณแม่ไม่ทันสังเกตถึงภาวะผิดปกตินี้ และถึงแม้ว่าในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นอกมดลูกจะยังไม่มีอาการใดๆ ที่แสดงถึงความเจ็บปวด แต่แน่นอนว่า การตั้งครรภ์นอกมดลูกย่อมมีอันตรายต่อทารก และยังอาจสร้างความสูญเสียมากขึ้นเป็น 2 เท่า เพราะหากคุณแม่รู้ตัวช้าและไม่ได้รับการรักษา ก็อาจเกิดอาการช็อกแบบไม่ทันตั้งตัว และเสียชีวิตได้ในที่สุด!!
สิ่งแรกที่ควรสังเกต คือ ประจำเดือนของคุณขาดไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน หรือไม่? หรือหากมีประจำเดือนอยู่ให้ดูว่ามีความผิดปกติอะไรที่แปลกไปหรือเปล่า? เช่น มากะปริบกะปรอยและมีสีน้ำตาลคล้ำ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด บวกกับอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดในช่องท้อง เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลมหมดสติ และอาจมีอาการปวดร้าวบริเวณไหล่ คอ หรือทวารหนักร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายร้ายแรงของการท้องนอกมดลูก ที่ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด!
เพราะการท้องนอกมดลูก คือ การที่ตัวอ่อนฝังในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต โดยตัวอ่อนประมาณ 95% ที่ฝังตัวผิดที่ มักฝังตัวที่ท่อนำไข่ ซึ่งเป็นเพียงกล้ามเนื้อบางๆ ต่างกับผนังโพรงมดลูกที่มีความหนากว่ามาก เมื่อทารกเริ่มเติบโตจึงส่งผลให้ท่อนำไข่แตก! เกิดการตกเลือดในช่องท้องและความดันโลหิตต่ำ ซึ่งหากคุณแม่ไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ จะทำให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างล่าช้า และเสี่ยงต่อการช็อกและเสียชีวิตได้
1. อายุ : คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในขณะที่อายุมากแล้ว คือในช่วง 35-44 ปี จะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูงขึ้น
2. ประวัติการตั้งครรภ์ : สำหรับคุณแม่ที่เคยมีประวัติตั้งครรภ์นอกมดลูก มีโอกาสเกิดซ้ำได้มากขึ้น
3. ความผิดปกติของท่อนำไข่ : ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบเรื้อรัง การมีพังผืด มีก้อนเนื้องอก หรือท่อนำไข่เติบโตได้ไม่ดี ล้วนมีผลต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ทั้งสิ้น
4. เคยผ่าตัดทางนรีเวช : โดยเฉพาะการผ่าตัดบริเวณท่อนำไข่ อาจก่อให้เกิดพังผืด หรือทำให้ท่อนำไข่ตีบตันบางส่วน จึงเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก
5. มีประวัติติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน : เพราะการติดเชื้อจะทำให้ขนเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ลำเลียงไข่ถูกทำลาย ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจึงไม่ถูกส่งไปยังมดลูกตามกระบวนการทางธรรมชาติ
การท้องนอกมดลูก ก็เทียบเท่ากับการแท้ง คุณแม่ที่ต้องการมีบุตรจึงกังวลว่าจะสามารถตั้งครรภ์ได้อีกครั้งหรือไม่? คำตอบก็คือ “ได้” แต่ทั้งนี้ ต้องมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะผู้ที่เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกมาแล้ว ย่อมมีโอกาสเกิดซ้ำอีก! และคุณแม่ควรคุมกำเนิดเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูเต็มที่ราวๆ 3-6 เดือนก่อน จึงค่อยวางแผนให้มีการตั้งครรภ์อีกครั้ง
สามีภรรยาคู่ไหนที่กำลังวางแผนจะมีบุตร
ควรติดต่อเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจจสุขภาพ เช็กความพร้อม! เพราะคงไม่มีใครอยากเปลี่ยนจากแพลนการเพิ่มสมาชิก ให้กลายมาเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่หรอก จริงไหม?
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2