การดูแลตัวเองหลังคลอดที่คุณแม่ต้องรู้
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
20-มี.ค.-2566

“หลังการคลอดบุตรใหม่ๆ” คุณแม่คงรู้สึกโล่งใจที่การคลอดผ่านไปได้ด้วยดี แต่อาจมีความกังวลใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจากการ “ตั้งครรภ์” และ “การคลอด” ซึ่งโดยปกติแล้วสภาพร่างกายของคุณแม่หลังคลอดจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 6-8 สัปดาห์ รวมทั้งแผลที่เกิดจากการคลอดก็จะหายดีในช่วงระยะเวลานี้ด้วย ทั้งนี้ หากคุณแม่มีความเข้าใจและดูแลตนเองหลังคลอดได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยให้ทุกอย่างราบรื่นขึ้น ซึ่งการดูแลตนเองหลังคลอดนั้นมีอยู่หลายด้าน ดังนี้


ด้านจิตใจ

หลังคลอดใหม่ๆ ปริมาณฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งคุณแม่ยังต้องปรับตัวกับบทบาทใหม่ อ่อนเพลียจากการคลอด กังวลใจกับสรีระของตนเอง และการเลี้ยงลูก จึงอาจทำให้รู้สึกเครียด หงุดหงิด หรือความซึมเศร้าแบบไม่มีเหตุผล ซึ่งเรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” ดังนั้น คุณพ่อจึงหรือคนใกล้ชิดจึงเป็นบุคคลสำคัญ หากได้ช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูบุตร และดูแลงานบ้านแทนคุณแม่ ก็จะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น รู้สึกมั่นใจและได้รับความรักอย่างเต็มที่

ด้านร่างกาย
1.การดูแลแผล
แผลฝีเย็บ ปกติแล้วคุณหมอจะเย็บด้วยไหมละลาย ซึ่งหลังคลอดประมาณ 7 วันแผลก็จะหาย แต่อาจจะรู้สึกเจ็บนานประมาณ 2 สัปดาห์ การทำความสะอาดสามารถใช้น้ำและสบู่ล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง และซับให้แห้งทันที ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ไม่ควรสวนล้างช่องคลอดหรืออาบน้ำในอ่าง กรณีคุณแม่เป็นริดสีดวงทวาร หากมีอาการปวดอาจจะประคบด้วยถุงน้ำแข็ง ใช้ครีมหรือยาเหน็บตามแพทย์สั่ง ดื่มน้ำและรับประทานผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูง เพื่อลดอาการท้องผูก
แผลผ่าตัด คุณหมอจะเย็บด้วยไหมละลาย ไม่ต้องตัดไหม ปิดไว้ด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ แต่ถ้าสังเกตว่ามีน้ำซึมเข้าแผล ให้เปลี่ยนพลาสเตอร์ปิดแผลใหม่ทันที แผลจะหายในเวลาประมาณ 7 วัน หากเจ็บแผลขณะเคลื่อนไหว คุณแม่อาจจะใช้ผ้ารัดหน้าท้องช่วยพยุงไว้ จะช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น

2. น้ำคาวปลา
คือน้ำคร่ำปนกับเลือดที่ออกจากแผลในมดลูกไหลออกมาทางช่องคลอด ในช่วง 3 วันแรกจะมีสีแดงเข้ม จากนั้นสีจะจางลงเรื่อยๆ คล้ายกับสีน้ำล้างเนื้อ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นมูกสีเหลืองๆ ตามปกติจะมีอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการปัสสาวะหรืออุจจาระ และเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ

3. การฟื้นตัวของมดลูก
ระหว่างตั้งครรภ์มดลูกจะขยายตัวใหญ่ขึ้นกว่าปกติ แต่หลังคลอดมดลูกก็จะหดตัวลงจนมีขนาดปกติและกลับเข้าสู่ตำแหน่งในอุ้งเชิงกราน ที่คนทั่วไปเรียกว่ามดลูกเข้าอู่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ หากมีอาการปวดมดลูก สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้

4. การดูแลเต้านม
โดยทั่วไปคุณแม่จะมีขนาดของเต้านมที่ใหญ่ขึ้น และมีอาการคัดตึงในวันที่ 2-3 หลังคลอด ซึ่งเกิดจากภาวะที่ต่อมน้ำนมเริ่มผลิตน้ำนม เวลาอาบน้ำควรงดฟอกสบู่บริเวณลานนม เพื่อให้น้ำมันธรรมชาติที่ผิวหนังสร้างขึ้นยังคงอยู่ จะช่วยลดความเจ็บขณะลูกดูดนม หากมีอาการนมคัดแต่ยังไม่มีน้ำนม ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบเต้านม และทานยาแก้ปวดได้
พยายามให้ลูกดูดนมบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมเร็วขึ้น หากมีน้ำนมไหลแล้ว ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมก่อนให้นมลูก ก็จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดบริเวณเต้านมดีขึ้น ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดหัวนมและลานนมทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังให้นมลูก

5. การรับประทานอาหาร
คุณแม่หลังคลอดยังคงต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เหมือนในระยะตั้งครรภ์ เพราะต้องใช้พลังงานในการฟื้นฟูร่างกายของคุณแม่เองและผลิตน้ำนมสำหรับเลี้ยงลูก
ควรรับประทานอาหารประเภท ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ลดอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และของหมักดอง งดเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ การรับประทานยาควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ เพราะยาบางชนิดหลั่งออกทางน้ำนมได้ โดยเฉพาะในช่วง 1 สัปดาห์แรก ควรปรึกษาแพทย์ว่าต้องงดยาใดบ้าง

6. การพักผ่อน
ช่วงที่พักฟื้นในโรงพยาบาล คุณแม่จะได้พักผ่อนเต็มที่ แต่เมื่อกลับบ้านแล้ว ช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่ ต้องดูแลตัวเอง ดูแลลูก และครอบครัว จึงควรจัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น ทำความสะอาดเสื้อผ้าและของใช้ลูกวันละ 1 ครั้ง ควรมีเวลางีบหลับพักผ่อนขณะลูกหลับ เพื่อไม่ให้คุณแม่เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียเกินไป

7. กิจกรรมที่คุณแม่ “ไม่ควรทำ” ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด

  • ไม่ควรยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของทารก
  • ไม่ควรออกแรงเบ่งมากๆ หรือนานๆ
  • ไม่ควรเดินขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆ
  • ไม่ควรขับรถโดยไม่จำเป็น
  • ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม ทำได้เฉพาะท่ากายบริหารเบาๆ

8. การมีเพศสัมพันธ์
คุณแม่อาจมีความรู้สึกทางเพศลดลงเนื่องจากความอ่อนเพลีย กังวล และความไม่สบายกาย หรือเจ็บแผล จึงควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกหลังคลอด หรือจนกว่าจะได้รับการตรวจสุขภาพหลังคลอด และวางแผนคุมกำเนิดแล้ว

9. การตรวจหลังคลอด

  • แพทย์จะนัดคุณแม่ให้มาตรวจสุขภาพ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เช่น
  • ตรวจความสมบูรณ์ของร่างกาย
  • ตรวจดูสภาพของปากมดลูกและอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน หรือแผลผ่าตัดหน้าท้องกรณีผ่าตัดคลอด
  • ตรวจความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
  • ให้คำแนะนำเรื่องการวางแผนครอบครัว และคุมกำเนิดที่เหมาะสมในช่วงหลังคลอด


อาการผิดปกติหลังคลอด ที่ควรรีบมาพบแพทย์

  • มีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น หรือมีสีแดงสดตลอด 15 วันหลังคลอด
  • ปวดท้องน้อย เจ็บปวด หรือแสบขัดเวลาปัสสาวะ
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • เต้านมบวมแดง อักเสบ หัวนมแตกเป็นแผล
  • แผลฝีเย็บ หรือแผลผ่าตัดอักเสบ บวม แดง หรือมีหนอง




บทความสำหรับคุณเเม่ คลิก
เเพ็กเกจฝากครรภ์ คลิก



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 5148-5220