ใช้ห้องน้ำสาธารณะ… เสี่ยงโรคหรือเปล่า
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
01-ต.ค.-2561
title ถ้าพูดถึงห้องน้ำสาธารณะแล้ว เราต้องยอมรับเลยว่าในแต่ละวันก็มีคนใช้ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าห้องน้ำนั้นไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาดอย่างดี

ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะมีความเสี่ยงในการที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรียมาจากห้องน้ำได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และนั่นอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้

การทดลองสุดเซอร์ไพรส์… ที่เรา “ไม่เคยรู้”

แจ็ค กิลเบิร์ต นักจุลชีวินวิทยา จากห้องปฏิบัติการแห่งชาติอิลลินอยด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับปริมาณและชนิดของแบคทีเรียในห้องน้ำสาธารณะยืนยันว่า ห้องน้ำที่สภาพแวดล้อมเย็น แห้งและสะอาดสะอ้าน ทำให้แบคทีเรียส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เป็นเวลานานๆ ผิดกับห้องน้ำที่มีอากาศชื้นและอุ่น รวมทั้งมีเศษอาหารสกปรกตกอยู่ตามพื้นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีและมีชีวิตได้นานกว่า

ความเสี่ยงเกิดโรค… ที่เกิดจากห้องน้ำสาธารณะ

ห้องน้ำสาธารณะถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคอย่างดี โดยเฉพาะเชื้อโรคหลักๆ มีอยู่ 2 กลุ่มคือ เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างเช่น อาการตกขาวเพราะติดเชื้อในช่องคลอด หนองใน เริม และเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร อย่างเช่น ท้องร่วง ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ เพราะฉะนั้นทางที่ดีก่อนเข้าห้องน้ำเราควรเตรียมพร้อม ด้วยการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องสัมผัสร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยและยังช่วยลดความเสี่ยงติดโรคต่างๆ ตามมาได้


ถ้าภูมิคุ้มกันแข็งแรง… ก็สู้กับแบคทีเรียได้

ถึงจะมีหลากหลายงานวิจัยที่ระบุว่า แบคทีเรียที่เกิดขึ้นในบริเวณห้องน้ำ โดยเฉพาะห้องน้ำสาธารณะนั้นจะมีหลากหลายสายพันธุ์ บางส่วนจะเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในตัวคน และมักพบตามพื้นที่ต่างๆ ในห้องน้ำที่ต้องใช้การสัมผัส เช่น ประตู ที่นั่ง ก๊อกน้ำ ปุ่มชักโครก แต่ถ้าภูมิคุ้มกันของเราไม่ได้อ่อนแอ หรือในร่างกายไม่ได้มีแผลเปิดที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถติดโรคจากคนอื่นที่เราไม่รู้จักได้ง่ายขนาดนั้น

ล้างมือทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ

อย่างที่เคยมีการรณรงค์ให้ล้างมือเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรคต่างๆ เพราะการล้างมือที่ถูกวิธี (เริ่มจากล้างตั้งแต่มือ แขน และอาจไล่ไปจนถึงข้อศอก และไม่ลืมที่จะทำความสะอาดหลังมือทั้งสองข้างด้วย เวลาถูฝ่ามือก็ไม่ลืมที่จะทำความสะอาดซอกเล็บ ข้อนิ้วและง่ามมือด้วยสบู่และล้างน้ำให้สะอาดทุกครั้ง) เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายๆ เช่น แค่กดปุ่มชักโครก ก็อาจทำให้ติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดเอได้ ถ้าไม่ล้างมือและยังใช้มือเดียวกันนั้นหยิบจับอาหารเข้าปาก แต่ทุกอย่างป้องกันและลดโอกาสเกิดโรคได้ง่าย ๆ เพียงแค่เพียงล้างมือทำความสะอาดบ่อย ๆ เท่านั้น

สอบถามรายละเอียด
คลินิกศัลยกรรมอาคาร 2 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105