เทคนิคการ “ดูแลแผล”…ก่อนมาโรงพยาบาล
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
01-พ.ย.-2561
title อุบัติเหตุย่อมเกิดได้เสมอ บ่อยครั้งที่ได้ “บาดแผล” มาโดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะแผลขนาดเล็กที่หลายคนมักคิดว่า “เดี๋ยวก็คงหาย” แต่กลับกลายเป็นความรุนแรงเมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้น! ดังนั้น การปฐมพยาบาลบาดแผลไม่ว่าแผลเล็กหรือแผลใหญ่ จึงเป็นเทคนิคสำคัญที่เราควรรู้ไว้

การปฐมพยาบาลบาดแผลลักษณะต่าง ๆ

1. แผลปิด

คือ แผลที่มักเกิดจากของไม่มีคม ผิวหนังจึงไม่เกิดการฉีกขาดแต่เนื้อเยื่อหลอดเลือดใต้ผิวหนังแตก ส่งผลให้เกิดการห้อเลือด ฟกช้ำ บวม มีอาการปวดระบม

การปฐมพยาบาล:ใช้น้ำแข็งหรือถุงน้ำเย็นประคบ เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ห้ามนวดห้ามคลึงเพราะจะทำให้เกิดเลือดออกภายในมากขึ้น โดยวิธีนี้จะทำภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดแผล ซึ่งหากเวลาผ่านไปเกิน 24 ชั่วโมง ให้ใช้เป็นน้ำอุ่นประคบแทน เพื่อให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น

2. แผลเปิด

- แผลถลอก เป็นแผลที่มักมีรอยฉีกขาดของผิวหนังเพียงตื้นๆ แต่หากพื้นผิวที่เกิดการเสียดสีจนเป็นแผลมีความสกปรก ก็อาจทำให้แผลติดเชื้อได้

การปฐมพยาบาล:หากบาดแผลมีขนาดใหญ่ กว้างและลึก มีเลือดออกมาก ไม่ควรชำระล้างบาดแผลเอง ให้ปิดแผลด้วยผ้าสะอาดเพื่อห้ามเลือด จากนั้นรีบนำผู้บาดเจ็บส่งให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด

- แผลฉีกขาด เป็นแผลที่มีลักษณะขอบไม่เรียบ บางแห่งลึก บางแห่งตื้น โดยมากเกิดจากของมีคม เช่น เศษแก้ว เศษเหล็ก ทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือด มีเลือดไหลมากและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

การปฐมพยาบาล:ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ ใส่ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกัน จากนั้นพันแผลด้วยผ้าก๊อซสะอาด แล้วรีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

- แผลถูกฟัน หรือแผลตัด เป็นแผลที่เกิดจากวัตถุมีคม หน้าเรียบ ทำให้เกิดการฉีกขาดของผิวหนัง เนื้อเยื่อ รวมถึงหลอดเลือดใต้ผิวหนังด้วย

การปฐมพยาบาล: ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ แล้วรีบนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล โดยพันแผลด้วยผ้าก๊อซสะอาดเพื่อช่วยหยุดเลือดไว้ด้วย

- แผลถูกยิง เป็นแผลที่มีลักษณะเป็นรูตามรูปลักษณ์ของกระสุน โดยรูที่กระสุนเข้าขอบรูจะเล็กและเรียบ ส่วนรูกระสุนออกแผลจะแบะขอบแผลไม่เรียบ ซึ่งมีอันตรายต่ออวัยวะภายใน และหากเกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดใหญ่จะทำให้เลือดไหลออกมากและไหลแรง

เมื่อเกิดบาดแผลไม่ว่าแผลเล็กหรือใหญ่ หากเกิดการติดเชื้อก็อาจนำมาซึ่งอันตรายร้ายแรง ดังนั้นแม้เป็นบาดแผลขนาดเล็ก หลังปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็ควรสังเกตความผิดปกติ เช่น มีเลือดซึมอยู่หรือไม่? และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูบาดแผล รวมถึงในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หากมีบาดแผลอย่าชะล่าใจ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย

สอบถามรายละเอียด

คลินิกศัลยกรรม อาคาร 2 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105