ระวัง! โรคงูสวัดในผู้สูงอายุ...น่ากลัวกว่าที่คิด!
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
21-ธ.ค.-2565
กระทรวงสาธารณสุขของไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มตัวเลขผู้ป่วย โรคงูสวัด” ในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งยังพบว่าโรคงูสวัด เป็นโรคติดเชื้ออันดับต้นๆ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตใน “ผู้สูงอายุ” โดยพบมากถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป นี่จึงเป็นเหตุผลว่า... ทำไม? โรคงูสวัดจึงไม่ใช่แค่โรคที่สร้างความเจ็บปวดทรมาน แต่ยังนำมาซึ่งภัยอันตรายร้ายแรงที่น่ากลัวกว่าที่คิด

ทำความรู้จักกับ “โรคงูสวัด”
งูสวัด เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยพบว่าในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แม้จะมีร่างกายแข็งแรงดี แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดได้ถึงร้อยละ 25 เลยทีเดียว

ลักษณะอาการของโรคงูสวัด
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง ในรายที่มีอาการปวดรุนแรง เพียงแค่สัมผัสเบาๆ หรือเมื่อผิวหนังสัมผัสกับเสื้อผ้าก็ทำให้เกิดอาการปวดขึ้นได้ และหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวไปแล้วประมาณ 2-3 วัน จะเริ่มมีผื่นแดงขึ้น และกลายเป็นตุ่มนูนคล้ายกับอีสุกอีใส แต่ความต่างของสองโรคนี้คือ ตุ่มของงูสวัดจะไม่กระจายไปทั่วตัว แต่จะเรียงเป็นลักษณะแถวยาวตามแนวของเส้นประสาท และต่อมาตุ่มจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส แตก และตกสะเก็ดในที่สุด

โรคงูสวัดในผู้สูงวัย...ทำไมถึงอันตราย ?
ระดับความรุนแรงของโรคงูสวัดจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ โดยพบว่าในผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มักจะมีอาการปวดยาวนานต่อเนื่องเป็นเดือนหรือเป็นปี และระดับอาการปวดจะค่อนข้างรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน บางรายปวดทรมานจนนอนไม่หลับ เกิดภาวะเครียด ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ รวมไปถึงเสี่ยงต่ออุบัติเหตุตามมา เช่น วูบแล้วล้มเพราะอดนอน หรือนอนไม่หลับบ่อยๆ ก็ทำให้เสียสุขภาพและเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเป็นงูสวัด โดยมากมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือแม้แต่ในผู้สูงอายุ อย่างเช่น กรณีที่ผื่นแดงเกิดขึ้นที่ใบหน้า หากมีการติดเชื้อบริเวณดวงตาอาจส่งผลอันตรายถึงขั้นตาบอด หรือหากติดเชื้อบริเวณหูด้านนอกก็อาจลุกลามไปยังแก้วหูชั้นใน รวมทั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง เกิดอัมพาตบริเวณใบหน้าได้

ฉีดวัคซีนงูสวัดเพื่อป้องกัน และลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
แม้ว่า ‘โรคงูสวัด’ จะมีแนวทางในการรักษา แต่คงจะอุ่นใจกว่าหากเราป้องกันโรคงูสวัดและลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อเป็นโรคได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนงูสวัดคือทางออกที่ดีและช่วยลดปัญหานี้ได้ โดยแนะนำให้ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ส่งผลให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง หรือผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการฉีด ‘วัคซีนงูสวัด’ ตามคำแนะนำของแพทย์



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
คลินิกอายุรกรรม อาคาร 5 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5188, 5189