การผ่าตัดกระเพาะอาหารลดน้ำหนัก หลายคนอาจกังวลในเรื่องของการดูแลสุขภาพก่อนผ่าตัด และการดูแลสุขภาพหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นปัญหาที่หมดกังวลได้เลย เพราะทั้งก่อนและหลังผ่าตัด แพทย์จะให้คำแนะนำอย่างละเอียด ในทุกเรื่องที่ผู้เข้ารับบริการกังวล ทั้งเรื่องของอาหาร การฟื้นตัว การออกกำลังกาย และการปรับพฤติกรรมหลังผ่าตัด เพื่อให้น้ำหนักลดลงให้ได้มากที่สุด และกลับมามีรูปร่างที่สวยงาม และมั่นใจได้อีกครั้ง
วิธีการปฏิบัติตัวก่อน และหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
ก่อนผ่าตัด
1. ผู้ป่วยจะต้องตรวจสุขภาพทั่วไป เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย และทำความเข้าใจถึงวิธีการรักษาด้วยผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวให้ถูกวิธีทั้งก่อน และหลังผ่าตัด เช่น ตรวจเลือด อัลตราซาวด์ เอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจสมรรถภาพปอด เป็นต้น
2. ทดสอบสภาพจิตใจกับนักจิตวิทยา เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีโรคทางจิตเวชสำคัญที่ห้ามการผ่าตัด และเตรียมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลังผ่าตัด
3. เตรียมความพร้อมด้านโภชนาการจากนักกำหนดอาหาร โดยจะมีประเมินและการปรับการรับประทานอาหารหลังทำการผ่าตัด
4. ประเมินภาวะโรคที่มีความเสี่ยงก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
5. งดสูบบุหรี่ก่อนผ่าตัด 4 สัปดาห์ และงดดื่มน้ำ อาหารก่อนเข้ารับการผ่าตัด 6 – 8 ชั่วโมง และถ้าต้องทานยาให้เป็นไปตามที่แพทย์สั่ง
6. แจ้งแพทย์ และพยาบาลในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์ หรือหากรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด
หลังผ่าตัด
1.หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง และจำเป็นต้องได้รับการควบคุมอาหาร โดยจะได้รับแผนการรับประทานอาหารจากแพทย์ และนักโภชนาการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้สารอาหารที่ครบถ้วน และเพียงพอ
- สัปดาห์ที่ 1 อาหารเหลว ซึ่งจะให้รับประทานอาหารเหลวใสที่รับประทานได้ง่าย เพื่อปรับสภาพกระเพาะช่วงแรกหลังผ่าตัด เช่น น้ำซุปใส
- สัปดาห์ที่ 2 อาหารเหลวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะให้รับประทานอาหารที่ข้นขึ้น เช่น ซุป โจ๊ก
- สัปดาห์ที่ 3 อาหารอ่อน ย่อยง่าย ซึ่งจะให้รับประทานอาหารอ่อนนุ่ม เช่น เยลลี่ คัสตาร์ด ไข่ตุ๋น
- สัปดาห์ที่ 4 อาหารธรรมดา แต่เน้นปรุงสุก ซึ่งสามารถทานอาหารได้ตามปกติ โดยจะต้องเป็นอาหารปรุงสุก และเน้นโปรตีนสูงเป็นหลัก รวมถึงสามารถเริ่มรับประทานผักนิ่มๆ ได้ แต่ควรเน้นเป็นผักใบเขียว และผลไม้ที่นิ่มๆ ย่อยง่าย และควรรับประทานในปริมาณน้อยๆ ก่อน
- สัปดาห์ที่ 5 รับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ควรรับประทานในปริมาณน้อยๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และนานกว่าปกติก่อนกลืน และไม่ควรดื่มน้ำพร้อมกับรับประทานอาหาร หรือควรดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหาร 15-30 นาที เพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้กลับมามีภาวะอ้วนลงพุงได้อีก
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานแป้ง เพราะเป็นอาหารประเภทหนึ่งที่จะเปลี่ยนรูปไปเป็นน้ำตาลในที่สุด ซึ่งน้ำตาลนั้นเป็นเหมือนอาหารที่สามารถเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมได้
3. งดของมันของทอด อาหารประเภทไขมัน เพราะจะทำให้น้ำหนักไม่ค่อยลงอย่างที่ควรจะเป็น และยังทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วย
4. งดดื่มชา กาแฟ สุรา และสิ่งเสพติด
5. ผู้ป่วยจะต้องพยายามลุกขึ้นเดิน เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขา
6. หากมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ มากกว่า 120 ครั้ง/นาที ,มีไข้ 37.8 องศาเซลเซียส,ปวดท้องอย่างรุนแรง
7. หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วผู้ป่วยควรเคร่งครัดในการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของทีมแพทย์ และกลับมาติดตามผลการรักษาตามนัดหมาย
หลังจากการผ่าตัดลดน้ำหนักมีโอกาสกลับมาอ้วนได้อีกไหม ?
เพราะพฤติกรรมของผู้ป่วยเป็นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดว่าจะกลับมาอ้วนอีกครั้งหรือไม่ และหลังการการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะเห็นผลลัพธ์ของน้ำหนักตัวที่ลดลงตั้งแต่ในช่วงแรกหลังหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1-2 ปีแรก น้ำหนักจะลดลงมากที่สุด จากนั้นน้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้นบ้างเพราะผู้ป่วยจะเริ่มสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น และน้ำหนักที่ลดลงไปอาจจะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามคงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และการออกกำลังกายที่เพียงพอเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ร่วมกับการติดตามการรักษากับทีมแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักและสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
เพราะความอ้วนไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรืออาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่ได้การดูแลรักษาอย่างถูกวิธี จึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อ วางแผนรับมือให้ถูกวิธี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์ศัลยกรรม อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-5144141 ต่อ 1101-1100