อาการชักในเด็ก ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก โดยเฉพาะกับเด็กอายุ 6 เดือน-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พบอาการชักมากกว่าเด็กวัยอื่น การเตรียมพร้อมเพื่อการรับมือกับ “อาการชัก” ของลูก จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อเกิดเหตุจะได้ดูแลและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างถูกวิธี ทั้งนี้...ควรเริ่มจาก การทำความเข้าใจถึง “สาเหตุของการชัก” กันเสียก่อน
นี่แหละ… สาเหตุของการชักในเด็ก
การมีไข้ อดนอน มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือระดับเกลือแร่ไม่สมดุล ที่อาจเกิดจากการสูญเสียเกลือแร่จากการท้องเสีย ล้วนแต่เป็นสาเหตุของการชักของลูกน้อยได้ทั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วเด็กมักจะ "ชักจากการมีไข้สูง" มากกว่า ซึ่งอาการชักจากสาเหตุนี้ไม่ค่อยน่ากังวลมากนัก เพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อระดับสติปัญญาและการพัฒนาการของเด็ก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ชักนานกว่า 15 นาที และชักหลายครั้งใน 24 ชั่วโมง ให้สงสัยว่าเด็กอาจจะเป็น "โรคลมชัก" ซึ่งควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไป
แบบไหน… คืออาการชักจากไข้
เมื่อรู้สาเหตุของการชัก ก็สามารถป้องกันเบื้องต้นก่อนได้ อย่างเวลาที่เจ้าตัวน้อยไม่สบาย ให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นวัดอุณหภูมิร่างกายอยู่เสมอ เมื่อพบว่าอุณหภูมิสูงกว่า 37.2 องศา ให้ลดไข้ด้วยการนำผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดเช็ดตัวให้ลูกเป็นระยะๆ เวลาเช็ดให้ถูผิวเแรงๆ เพื่อให้เส้นเลือดขยายตัว จะได้คลายความร้อนได้ดี และทานยาลดไข้ร่วมด้วยทุก 4 ชั่วโมง
Do… ข้อควรปฎิบัติเมื่อลูกชัก
จับเด็กนอนหงาย แล้วตะแคงหน้าบนพื้นราบ เพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่งสะดวก ป้องกันการสำลักน้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหาร
ถ้าเด็กใส่เสื้อผ้ารัด ให้คลายเสื้อผ้าบริเวณหน้าอกให้หลวมขึ้น จะได้หายใจได้สะดวก
เช็ดตัวตลอดเวลา โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตามตัว เน้นบริเวณข้อพับ โดยเช็ดไปในทิศย้อนเข้าหาหัวใจ เพื่อเปิดรูขุมขน ระบายความร้อนจากพิษไข้
สังเกตลูกว่าตอนชักนั้น ลูกหลับหรือตื่่นอยู่ ชักนานกี่นาที อวัยวะส่วนใดมีการกระตุกหรือไม่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยกัน ให้อีกฝ่ายถ่ายวิดีโอคลิปไว้ เพื่อนำไปเปิดให้แพทย์พิจารณาและทำการวินิจฉัยอาการร่วมกับการตรวจอื่นๆ
ปกติแล้ว “อาการชัก” จะหายได้เองประมาณ 5 นาที เด็กจะรู้สึกตัว แต่ถ้าชักนานเกิน 15 นาที ลูกไม่รู้สึกตัว หรือมีอาการชักซ้ำ ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
Don’t… ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเมื่อชัก
เขย่าตัวให้เด็กตื่น จะได้หายจากการชัก ยิ่งเขย่าจะทำให้เด็กชักมากขึ้น และไม่ควรงัดแขนเด็กระหว่างมีอาการ เพราะอาจทำให้กระดูกแขนหัก ข้อหลุดได้
นำช้อนมางัดเข้าปาก เพื่อกันไม่ให้ผู้ป่วยกัดลิ้นตัวเอง การนำของแข็งต่างๆ ใส่เข้าปาก อาจทำให้ฟันหัก และหลุดเข้าไปในหลอดลม เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต หรือพิการได้
ป้อนยา จริงๆ แล้วไม่ควรป้อนอะไรเลยระหว่างที่ชัก เพราะเสี่ยงต่อการสำลัก
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์กุมารเวช อาคาร 3 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 3220 – 3221
Line id : @Paolochokchai4