MRI กับ CT Scan แตกต่างกันอย่างไร
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
21-พ.ย.-2566

“MRI กับ CT Scan”  เป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย และสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ซึ่งแพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะได้ทุกส่วนของร่างกาย ผ่านทางหน้าจอมอนิเตอร์ที่มีความคมชัดสูง ซึ่งเป็นวิธีการตรวจค้นหารอยโรคที่เพิ่มโอกาสทางการรักษาโรคร้ายให้กับผู้ป่วยได้ เพราะหากตรวจพบในระยะเริ่มต้น ก็อาจรักษาให้หายขาดได้

 

MRI หรือ CT Scan เหมาะกับใคร

เหมาะกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง หรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดอุดตัน รวมถึงการมีไลฟ์สไตล์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ไม่ว่าจะ ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

 

MRI กับ CT Scan ต่างกันหรือไม่

การตรวจ CT Scan เป็นการตรวจที่มีความซับซ้อนมากกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา โดยแพทย์จะฉายรังสีเอกซเรย์ไปยังบริเวณที่ต้องการตรวจบนร่างกาย เพื่อดูอวัยวะภายใน และทำการตรวจวินิจฉัยโรคหรือติดตามโรคเป็นระยะๆ ซึ่งการตรวจ CT Scan จะเป็นการตรวจที่มีความละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา โดยจะแสดงเป็นภาพ 3 มิติ ที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในร่างกายได้เกือบทุกส่วน

CT Scan ตรวจอะไรได้บ้าง

  • ตรวจหาเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ ตำแหน่ง และขนาดของเนื้องอก
  • ตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดโป่งพอง เส้นเลือดอุดตัน  
  • ตรวจหาความผิดปกติของกระดูก และข้อต่อต่างๆ เช่น การหัก การหลุด และการอักเสบ
  • ตรวจหาการแพร่กระจายของเนื้องอกไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะที่ใกล้เคียง
  • ตรวจดูการคั่งของเลือดในสมอง ช่องท้อง และอุ้งเชิงกราน

 


แต่การตรวจ MRI
เป็นการตรวจที่ใช้สนามแม่เหล็ก และคลื่นวิทยุที่มีความเข้มสูงในการสร้างภาพเสมือนจริงของอวัยวะภายต่างๆ ภายในร่างกาย โดยเฉพาะ สมอง หัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ และส่วนที่ผิดปกติ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นจุดที่ผิดปกติในร่างกายได้ชัดเจน และสามารถตรวจวินิจฉัยรอยโรคได้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยผ่านทางหน้าจอมอนิเตอร์ ที่มีภาพคมชัดสูง ทั้งแนวขวาง แนวยาว และแนวเอียง เป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งมีความละเอียดมากกว่าการตรวจ CT Scan และเป็นวิธีที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวกับผู้ป่วย

MRI ตรวจอะไรได้บ้าง

  • MRI สมอง เช่น อัมพาต เส้นเลือดในสมองตีบ ปวดศีรษะบ่อย
  • MRI ช่องท้อง เช่น เนื้องอก ตับแข็ง ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี และถุงดีในตับอ่อน
  • MRI กระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูก กระดูกสันหลังหักยุบ กระดูกทับเส้น เนื้องอกบริเวณกระดูกสันหลัง
  • MRI กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เช่น ข้อเข่าเสื่อม หรือการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
  • MRI เส้นเลือด เช่น การไหลเวียนของเลือด ตรวจดูเส้นเลือด และความผิดปกติของระบบเส้นเลือด

 

ข้อจำกัดในการตรวจ MRI กับ CT Scan

  • การตรวจ MRI ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือโลหะภายในร่างกายบางชนิด เช่น ผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้เป็นจังหวะ ผู้ที่ผ่าตัดคลิปอุดหลอดโลหิต ผู้ที่ผ่าตัดฝังอวัยวะเทียมภายในหู และผู้ที่มีโลหะต่างๆ ภายในร่างกาย เนื่องจากเมื่อเข้าไปในสนามแม่เหล็กแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ จึงจำเป็นต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง เมื่อต้องตรวจ MRI

  • การตรวจ CT Scan อาจมีความจำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี เพื่อเพิ่มความคมชัดให้ภาพ ซึ่งผู้ป่วยมีโอกกาสแพ้สารทึบรังสีได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยสตรีที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยเด็ก ส่งผลให้แพทย์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษหากกลุ่มเหล่านี้ต้องตรวจ CT Scan

 

เพราะฉะนั้น หมั่นตรวจ screening ร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ โดยไม่ต้องยึดติดว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงหรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะหากคุณละเลยสิ่งเหล่านี้ อาจทำให้โรคร้ายเหล่านี้หันกลับมาทำลายคุณภาพชีวิตของคุณให้แย่ลงได้


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์ตรวจสุขภาพ อาคาร 5 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5160 - 5161