เช็คลิสต์พฤติกรรมของคุณผู้ชาย… เมื่อเริ่มเข้า “วัยทอง”
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
22-ก.พ.-2566
title เมื่อพูดถึงคำว่า “วัยทอง” คนทั่วไปมักจะนึกถึงอาการของผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเป็นอันดับแรก แต่ความจริงแล้วผู้ชายเองก็ต้องก้าวสู่วัยทองเช่นเดียวกัน มาดูกันดีกว่า ว่าเมื่อคุณผู้ชายเริ่มเข้าสู่วัยทองแล้ว จะมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง

ทำความรู้จักกับคำว่า “วัยทอง” ของคุณผู้ชาย
ในทางการแพทย์จะเรียกผู้ชายวัยทองว่า “แอนโดรพอส” (Andropause) ซึ่งหมายถึง กลุ่มอาการถดถอยทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ชายวัยเกิน 40 ปีขึ้นไป โดยมีความสัมพันธ์กับการที่ฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเทอโรนในร่างกายลดระดับลง โดยหลังช่วงอายุ 40 ปี การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในผู้ชายจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ ประมาณปีละ 1% โดยเฉพาะคนที่ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ ไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะยิ่งส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนลดลงเร็วกว่าคนอื่นๆ

พฤติกรรมน่าสงสัย เมื่อเข้าสู่ “วัยทอง”
อาการที่จะบอกถึงภาวะการพร่องฮอร์โมนเพศชายหรือวัยทองนั้น แบ่งออกได้เป็น 4 ด้านหลักๆ คือ
1. ด้านร่างกาย เช่น มีอาการอ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร อ้วนลงพุง ปวดเมื่อยตามตัวโดยไม่มีสาเหตุ ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อต่างๆ เริ่มลดขนาดลง
2. ด้านสติปัญญาและอารมณ์ เช่น มีอาการกระสับกระส่าย เครียดและหงุดหงิดง่าย เฉื่อยชา ซึมเศร้า ขาดสมาธิในการทำงาน ความจำระยะสั้นถดถอย
3. ด้านระบบไหลเวียนโลหิตอาจจะมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก หรือชีพจรเต้นเร็ว
4. ด้านจิตใจและเพศสัมพันธ์ เช่น มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นตกใจง่าย สมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว และการหลั่งน้ำอสุจิลดลงทั้งปริมาณและความถี่

ปัจจัยอะไร? ที่เป็นสาเหตุของวัยทองในคุณผู้ชาย
นอกจากเรื่องของอายุซึ่งเป็นปัจจัยธรรมชาติที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงแล้ว ก็ยังมีสภาวะบางอย่างที่เป็นตัวเร่งให้ผู้ชายเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติได้ด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหนัก การพักผ่อนน้อย ความเครียด ความวิตกกังวล การดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ และโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ก่อให้เกิดอาการของวัยทองเร็วขึ้นได้ทั้งนั้น


แม้จะป้องกันไม่ได้…แต่เลือก “ปรับตัว” ได้
แม้วัยทองไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในทางการแพทย์ ร่างกายย่อมมีการเสื่อมถอยลงไปตามกฎของธรรมชาติ แต่สิ่งที่จะช่วยให้เราปรับตัวได้ดีก็คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ลดอาหารประเภทไขมัน และรับประทานพืชผักและผลไม้ให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถเอาชนะความเสื่อมถอยตามธรรมชาติได้ แต่หากมีการจัดการกับชีวิตและสุขภาพให้ลงตัว ก็อาจช่วยยืดเวลาแห่งความเป็นหนุ่มให้ยาวนานภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติ




สอบถามรายละเอียด
ศูนย์ตรวจสุขภาพ อาคาร 5 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 5160 - 5161