5 เทคนิคป้องกัน “อาหารไม่ย่อยในผู้สูงอายุ”
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
18-ต.ค.-2561
5 เทคนิคป้องกัน “อาหารไม่ย่อยในผู้สูงอายุ” ผู้ใหญ่ในบ้านชอบบ่นว่าจุกท้อง แน่นท้องบ่อยๆ รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย ว่าแต่…อาหารไม่ย่อยนี่มีอาการแบบไหนนะ วันนี้เรามีเทคนิคดีๆ มาฝาก เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สบายตัวนี่ของผู้สูงอายุ

“อาหารไม่ย่อย” คืออะไร?

“อาหารไม่ย่อย” เป็นอาการที่เกิดขึ้นระหว่างทานอาหารหรือหลังทานอาหารที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยส่วนมากจะพบได้บ่อยในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ

ไม่สบายท้อง จุกเสียด แน่นท้อง…อาการ “อาหารไม่ย่อย”

ผู้ที่มีลักษณะอาหารไม่ย่อยมักจะรู้สึกไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ มีอาการปวดท้องช่วงบน จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว หรือมีอาการแสบร้อนกลางทรวงอกหลังทานอาหาร โดยอาการดังกล่าวจะดีขึ้นและสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป บางคนอาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณของโรคและการเจ็บป่วยในระบบย่อยอาหารได้ด้วย

เครียด กินเร็ว กินอาหารไม่ตรงเวลา…สาเหตุของ “อาหารไม่ย่อย”

ความจริงแล้วสาเหตุของการเกิดความไม่สบายตัวนี้มีได้หลายอย่าง ตั้งแต่พฤติกรรมการกินอาหาร เช่น กินอาหารไม่ตรงเวลา กินเร็ว กินมากไป ฯลฯ หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ เครียด หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลมมากเกินไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุได้ทั้งสิ้น

แค่ปรับพฤติกรรม…ก็ป้องกันได้

การป้องกันอาการไม่ย่อยนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากเป็นผู้สูงอายุด้วยแล้วอาจต้องระวังเป็นพิเศษ เราสามารถปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตได้ง่ายๆ ด้วยเทคนิคเหล่านี้!

1.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีรสเผ็ด หรืออาหารสำเร็จรูป
2.ในแต่ละมื้อควรทานอาหารให้ตรงเวลาเสมอ
3.ไม่ทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป หากรู้สึกว่าหิวบ่อยควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายมื้อ แทนการกินอาหารมากๆ ในมื้อเดียว
4.หากิจกรรมทำให้ไม่ให้เครียด หรือนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
5.งดทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

“อาหารไม่ย่อย” ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพียงแค่รู้จักปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ก็สามารถห่างไกลโรคนี้ได้ไม่ยาก!

สอบถามรายละเอียด

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1210 – 1211