กรดไหลย้อน โรคของการใช้ชีวิต
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
12-ก.ย.-2561
title คนไทยในปัจจุบันเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าในอดีต เพราะปัจจัยการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปชีวิตที่เร่งรีบ

น้ำหนักตัวมาก พฤติกรรมการรับประทาน และอาหารบางประเภท ถ้าเช่นนั้นเราจะมีวิธีดูแลตนเองให้ห่างไกลโรคนี้ได้อย่างไร

อันดับแรกไปศึกษาถึงสาเหตุและอาการของโรคกันก่อนเลย “โรคกรดไหลย้อน” เกิดจากหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารคลายตัว จึงทำให้ของเหลว หรือกรดล้นจากกระเพาะอาหารกลับเข้าไปยังหลอดอาหารได้

อาการกรดไหลย้อน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

-  อาการลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน เช่น แสบร้อนหน้าอก เรอเปรี้ยว หรือรู้สึกมีของเหลว หรืออาหารย้อนกลับมายังหลอดอาหาร โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน หรือตื่นนอน
-  อาการที่ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะ เช่น เจ็บหน้าอก มีกลิ่นปาก ฟันผุง่าย เสียงแหบ หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง

ด้านการตรวจวินิจฉัยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย สำหรับผู้ที่มีอาการในลักษณะเฉพาะ และตรวจระบบอื่นไม่พบความผิดปกติ และไม่มีสัญญาณอันตราย เช่น กลืนติด กลืนเจ็บ จะสามารถระบุได้ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นกรดไหลย้อน ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะ ต้องตรวจระบบใกล้เคียงอย่างละเอียด อาทิ หู คอ จมูก ระบบทางเดินหายใจ หัวใจ ถ้าไม่พบความผิดปกติ อาจให้ยาลดกรดเพื่อดูการตอบสนองว่าเป็นเช่นไร

บางรายอาจต้องตรวจเพิ่มเติม ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อดูหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร โดยส่วนใหญ่ทำกรณีมีข้อบ่งชี้สัญญาณอันตราย หรือผู้ที่รับประทานยาลดกรด 4-8 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น

คนไข้ที่เข้ารับการรักษาโรคกรดไหลย้อนที่ รพ.เปาโลโชคชัย 4 ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตของคนในเมืองใหญ่ๆ และปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ส่วนกรดไหลย้อนในผู้สูงอายุสามารถพบได้และแพทย์จะต้องตรวจโรคอื่นๆ อย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น เพราะอายุที่มากขึ้นจะเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดโรคอื่นด้วย เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือการเกิดแผล การอักเสบจากสาเหตุอื่น



สำหรับแนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อนสามารถทำได้โดย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ซึ่งมีผลอย่างมากกับอาการกรดไหลย้อน อาทิ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก จะแนะนำให้ลดน้ำหนัก อีกทั้งการปฏิบัติตัวบางอย่างจะช่วยให้อาการดีขึ้น เช่น การนอนหัวสูงขึ้น 6-8 นิ้ว การนอนตะแคงซ้าย การรับประทานอาหารมื้อเย็นห่างจากการนอนอย่างน้อย 3 ชม. รับประทานอาหารปริมาณพอเหมาะ หลีกเลี่ยงอาหารมันๆ และเครื่องดื่มที่มีกาแฟอีนและแอลกอฮอล์ เป็นต้น ลำดับต่อไป คือ การรับประทานยา และแนวทางอื่นตามความเหมาะสมในแต่ละบุคคล

ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนสามารถป้องกันหรือดูแลตนเองจากโรคกรดไหลย้อน ทำได้ง่ายตัวเอง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงทุกรูปแบบ เพื่อชีวิตที่มีความสุขของตัวคุณ

ขอบคุณข้อมูลโดย
นพ.สิริพงษ์ โสภิตภักดีพงษ์
แพทย์อายุรกรรม โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4