เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “การทำฟันระหว่างตั้งครรภ์” ของคุณแม่
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
06-ก.ย.-2561
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรที่จะต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพฟันและเหงือก เพราะโรคที่เกี่ยวกับเหงือกบางชนิด อาจจะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ เมื่อเริ่มทำการฝากครรภ์จนถึงช่วง 3 เดือนแล้ว ควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้งตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่ามีสุขภาพช่องปากที่ดีและจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ไปสู่ลูกน้อย

ช่วงตั้งครรภ์..สามารถ “ทำฟัน” ได้หรือไม่?

ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่สามารถทำฟันได้ตามปกติ เช่น อุดฟัน หรือขูดหินปูน เพราะจริงๆ แล้วควรรีบดูแลและรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีอยู่เสมอ หากปล่อยเอาไว้อาจมีอาการเจ็บปวด หงุดหงิด รำคาญใจ หรือทำให้ยุ่งยากในการดูแลรักษา ที่สำคัญคือ อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่สามารถกระจายเข้าสู่กระแสเลือด จนเป็นปัญหาหรือส่งผลกระทบไปสู่ลูกในครรภ์ได้ แต่อาจจะเว้นระยะให้เหมาะสม เช่น ช่วง 3 เดือนแรกยังไม่ควรทำฟันเพราะคุณแม่บางรายมีอาการแพ้ท้องอาเจียนบ่อย อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้หรืออาเจียนมากขึ้น เนื่องจากน้ำย่อยจากกระเพาะมีฤทธิ์เป็นกรดและจะทำลายผิวเคลือบฟัน และยังควรหลีกเลี่ยงการทำฝันในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะขนาดครรภ์และรูปร่างของคุณแม่ ไม่เอื้อต่อการนั่งหรือนอนบนเก้าอี้ทำฟันเป็นแน่

เว้นระยะปลอดภัย…ช่วงไตรมาสที่ 2

แต่หากคุณแม่ฟันผุและมีอาการปวดฟันก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ โดยช่วงที่ปลอดภัยและสะดวกที่สุดคือช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ โดยสามารถขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟันได้ตามปกติ หรือแม้แต่กรณีที่ต้องผ่าตัดก็สามารถทำได้ แต่คุณหมอจะพิจารณาดูความจำเป็น ถ้าไม่มีการอักเสบติดเชื้อ หรือยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาภายในช่วงตั้งครรภ์ ก็อาจจะต้องเลี่ยงไปก่อน

ส่วนข้อควรระวัง คือ หากไปพบทันตแพทย์ ควรแจ้งคุณหมอด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ เนื่องจากบางคนอาจจะมีขนาดท้องที่เล็กทำให้คุณหมอไม่ทราบว่ากำลังท้อง เพราะถ้ามีความจำเป็นต้องเอ็กซเรย์ คุณหมอก็จะได้ทำการเอ็กซเรย์เฉพาะที่จำเป็น และป้องกันโดยการใส่เสื้อตะกั่วกันรังสีให้ รวมถึงเรื่องการจ่ายยา ซึ่งคุณหมอจะได้เลือกกลุ่มยาที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่


ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม…เพื่อลูกน้อย

นอกจากนี้คุณแม่ยังควรที่จะต้องปรับพฤติกรรมการกินเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอต่อการเสริมสร้างร่างกายของลูกน้อย โดยเฉพาะการนำไปสร้างฟัน ระหว่างตั้งครรภ์ควรเพิ่มอาหารพวก โปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพิ่มผักและถั่ว ลดขนมหวาน กินผลไม้หรือดื่มน้ำผลไม้แทน เพื่อให้ได้รับโปรตีน และแร่ธาตุครบถ้วน ซึ่งหากได้รับไม่เพียงพอ อาจจะทำให้ฟันของลูกไม่แข็งแรง เนื่องจากพบว่าถ้าระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ขาดสารอาหารประเภทโปรตีน หรือลูกน้อยมีอาการขาดสารอาหาร จะทำให้ฟันขึ้นช้ากว่าปกติ นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์และแม่ที่ให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงยาในกลุ่มเตตร้าซัยคลิน เพราะจะทำให้ฟันของลูกน้อยเป็นสีน้ำตาลได้อีกด้วย

การดูแลฟันของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ไม่ยาก นอกจากการดูแลสุขภาพฟันให้ดีแล้ว การกินอาหารช่วงตั้งครรภ์ก็สำคัญมาก เพราะคุณแม่ที่มีสุขภาพช่องปากดี จะส่งผลต่อสุขภาพช่องปากของลูกด้วย ทั้งในทางตรงและทางอ้อม

ข้อมูลโดย ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1130 – 1131