ตับ & ไต…ทำไม? ต้องดูแลให้ดี
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
25-ม.ค.-2567

หน้าที่ของ “ตับ” อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในช่องท้อง

ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในช่องท้อง อยู่ใต้กระดูกซี่โครงบริเวณชายโครงขวาเลยมาถึงลิ้นปี่ ปกติกล้ามเนื้อตับจะมีสีแดง หนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ในแต่ละวันเลือดในร่างกายของคนเราซึ่งมีอยู่ราวๆ 5 ลิตรจะไหลผ่านตับรอบแล้วรอบเล่าถึง 360 รอบ ซึ่งหากวัดปริมาณเลือดที่ผ่านตับก็จะมากถึงวันละ 1,800 ลิตรเลยทีเดียว

 

หน้าที่หลักๆ ของตับจะเกี่ยวกับการควบคุมสารอาหาร สังเคราะห์โปรตีน และผลิตสารชีวเคมีที่จำเป็นในกระบวนการย่อยอาหาร ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็น

  • การย่อยสารอาหาร ตับจะนำสารอาหารที่ได้รับการย่อยมาแล้วในระดับหนึ่งเปลี่ยนให้เป็นสารอาหารที่จำเป็น และเหมาะกับการใช้ในแต่ละอวัยวะ เช่น สร้างโปรตีนอัลบูมิน หรือโปรตีนไข่ขาวที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
  • การสะสมอาหาร ตับจะสำรองสารอาหารไว้ใช้ในเวลาที่ร่างกายต้องการ เช่น เก็บน้ำตาลกลูโคสไว้ในตับ ทันทีที่ร่างกายต้องการพลังงานอย่างรวดเร็ว ตับก็จะส่งกลูโคสนี้ออกมา นอกจากนี้ตับยังเป็นแหล่งสะสมธาตุเหล็ก วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ อีกด้วย
  • การกำจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย ตับจะขับของเสียออกมาในรูปแบบของน้ำดีส่งผ่านไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งบางส่วนของน้ำดีจะเป็นของเสีย และบางส่วนจะทำหน้าที่ช่วยย่อยไขมันในลำไส้เพื่อดูดซึมสารอาหาร และวิตามินเอ ดี อี และเค มาใช้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะกินอาหารหลัก อาหารเสริม ยา สมุนไพร วิตามินใดๆ ก็ตาม ตับก็จะทำหน้าที่เปลี่ยนสารอาหารเหล่านั้นให้เป็นสารที่ในแต่ละอวัยวะต้องการ ซึ่งในบางครั้งสิ่งที่เรากินอาจเป็นสารที่มีพิษจึงส่งผลเสียต่อร่างกายและต่อตับทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ดังนั้น เราจึงควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะการกินยาหรือสมุนไพรควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนเสมอ 

 

หน้าที่ของ “ไต” ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ไต มีลักษณะคล้ายเม็ดถั่วเหลือง อยู่ใต้กระดูกชายโครงบริเวณบั้นเอวค่อนไปทางหลังข้างซ้ายและขวา ไตจะมีขนาดราวกำปั้นหรือโตกว่าเล็กน้อย ยาวประมาณ 4 นิ้วครึ่ง กว้างประมาณ 2 นิ้ว และหนาประมาณ 1 นิ้วครึ่ง

 

ไตทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องกรองของเสียโดยขับออกมาเป็นปัสสาวะ ซึ่งรายละเอียดการทำงานของไตมีดังนี้

  • ขับถ่ายของเสีย หน้าที่หลักของไตคือการขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญในร่างกาย ของเสียที่ไตขับออกมาจะอยู่ในรูปของยูเรีย ครีอะตินิน กรดยูริก และสารประกอบไนโตรเจนอื่นๆ ถ้าไตเสื่อมหรือทำงานได้ไม่ดีจะทำให้ของเสียเหล่านี้สะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป ระบบต่างๆ ในร่างกายก็จะเกิดปัญหา
  • กระตุ้นการทำงานของวิตามินดี ไตมีหน้าที่กระตุ้นวิตามินดีให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิตามินดีนี้เองจะช่วยให้ร่างกายดูซึมแคลเซียมไปใช้ได้ดีขึ้นด้วย และวิตามินดียังช่วยควบคุมการขับถ่ายแคลเซียมออกจากไต และควบคุมการสะสมแคลเซียมในกระดูก
  • กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนอิริโทโพอิติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยให้ร่างกายมีเลือดไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ ทั้งยังช่วยลดโอกาสเกิดภาวะโลหิตจาง
  • สร้างสารเรนิน ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่หลั่งจากไตเข้าไปในกระแสเลือด ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตให้คงที่ สามารถนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้เพียงพอ

 

วิธีการดูแลตับและไต…ให้แข็งแรง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดูแลตับและไตให้ดี เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของตับและไตไม่ให้ต้องทำงานหนักจนเกินไป ทั้งยังช่วยลดและชะลอความเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้นได้ โดยการดูแลทั้งสองอวัยวะนี้จะทำเหมือนกันได้ ด้วยการ

  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว รวมประมาณ 1.5-2 ลิตร หรือจะใช้สูตร น้ำหนักตัว x 2.2 x 30/2 จะได้ปริมาณน้ำที่ควรดื่มเป็นมิลลิลิตร เช่น น้ำหนักตัว 55 กก. x 2.2 x 30/2 จะได้เท่ากับ 1,815 มล. หรือ 1.8 ลิตร การดื่มน้ำน้อยกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการจะทำให้การไหลเวียนเลือดและการขับของเสียด้อยประสิทธิภาพลง 
  • การรับประทานอาหาร ควรเลือกอาหารที่มีกากใยสูง ผ่านการขัดสีน้อย กินอาหารที่มีโอเมก้า-3 เช่น เนื้อปลา น้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของตับ ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ลดอาหารหวานและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือน้ำเชื่อมซึ่งจะมีฟลุกโตสสูง ทำให้แบคทีเรียในลำไส้เติบโตเร็วเพิ่มความเสี่ยงตับอักเสบ นอกจากนี้ยังควรงดอาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน เช่น ถั่วป่น พริกป่น ปลาเค็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดมะเร็งตับ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที จะช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน และลดไขมันเลว (LDL) เพิ่มไขมันดี (HDL) ในเลือด ซึ่งดีต่อตับและไต
  • ควบคุมน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมากๆ การลดน้ำหนักได้ 5-10% จะช่วยลดการเกิดภาวะตับอักเสบ และช่วยลดไขมันสะสมในตับลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือหากดื่ม ผู้ชายไม่ควรเกิน 2 ดื่ม และผู้หญิงไม่ควรเกิน 1 ดื่ม ต่อวัน
  • ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ เพื่อลดการเกิดอนุมูลอิสระที่ส่งผลต่อสุขภาพตับและไต
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ตรวจค่าการทำงานของตับ เอนไซม์ AST (SGOT) และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หากไม่มีภูมิคุ้มกันอาจฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี หรือตามที่แพทย์แนะนำ ตรวจระดับการทำงานของไต ดูค่า GFR ว่าไตยังทำหน้าที่กรองของเสียได้ปกติดีหรือไม่ อยู่ในระดับกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อการปรับพฤติกรรมหรือรักษาให้ไตทำงานได้ดีขึ้น

 


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

คลินิกอายุรกรรม อาคาร 1 ชั้น 1

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย4

โทร. 02-514-4141 ต่อ 1100, 1101