ความเสี่ยงของคนอ้วน…เมื่อไขมันในเลือดสูง
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
18-ต.ค.-2565
“ไขมันในร่างกาย” ของคนเรา มาได้จาก 2 แหล่ง คือ จากอาหารที่เรากินเข้าไปในแต่ละวัน กับไขมันที่เกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นเองตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่ง “ไขมัน” แต่ละชนิดก็มีหน้าที่และให้ประโยชน์กับร่างกายต่างกันไป เช่น คอเลสเตอรอล ช่วยสร้างน้ำดีเพื่อใช้ในการดูดซึมอาหาร และสร้างฮอร์โมน ไตรกลีเซอไรด์เป็นแหล่งพลังงานให้ร่างกาย และฟอสโฟลิพิดเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์

ในกรณีถ้าเรามี “ไขมันชนิดต่างๆ” ในปริมาณที่พอดี แบบที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เพียงพอและไม่เหลือสะสมมากไปก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าหากเรามีปริมาณไขมันเกินค่าที่กำหนด ก็จะส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของร่างกาย อีกทั้งยังสะสมอยู่ตามอวัยวะต่างๆ จนทำให้มีน้ำหนักเกิน เกิด “ภาวะอ้วน” หรือเป็น “โรคอ้วน” ได้ นั่นเอง

แค่ไหนถึงเรียกว่า “อ้วน”
คำจำกัดความคำว่า “อ้วน” ของใครหลายๆ คนคงจะไม่เหมือนกัน เพราะไม่ใช่แค่การดูจากภายนอก เช่น หน้าอ้วน แขนขาใหญ่ จึงจะเรียกว่าอ้วนเสมอไป เพราะคำว่า “อ้วน” จริงๆ แล้วเราสามารถวัดได้จาก

1.ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) โดยองค์การอนามัยโลกได้แบ่งเกณฑ์ ค่าระดับดัชนีมวลกาย (BMI) ไว้ว่า คนเรานั้น ควรจะมีค่า BMI ระหว่าง 18.5-22.99 เท่านั้น ถ้ามากกว่านี้ ก็นับว่าเข้าเกณฑ์น้ำหนักเกิน แต่จะเกินมากเกินน้อยก็ขึ้นอยู่กับตัวเลข ว่าสูงกว่ามาตรฐานไปเท่าไหร่

2.เส้นรอบเอว (Waist Circumference) เป็นค่าที่วัดรอบเอวด้วยสายวัดมาตรฐาน สำหรับคนที่อยู่ในภาวะอ้วนลงพุงจะมีความยาวเส้นรอบเอว มากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซม. ในผู้ชาย และมากกว่าหรือเท่ากับ 80 ซม. ในผู้หญิง

ไขมันแต่ละชนิดในร่างกายทำหน้าที่อะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
  • ไขมันชนิด LDL (Low Density Lipoprotein) เป็นไขมันที่มีคอเลสเตอรอลอยู่สูงมาก ตัวไขมันมีหน้าที่เอาคอเลสเตอรอลไปสู่เซลล์ต่างๆ ที่ต้องการใช้งานไขมัน LDL แต่หากเรามีไขมัน LDL ในเลือดมากเกินไป ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ไขมันชนิด VLDL (Very Low Density Lipoprotein) เป็นไขมันที่ถูกสร้างจากตับ ประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์จำนวนมาก ไขมันชนิดนี้จะถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานให้ร่างกาย แต่หากมีไขมัน VLDL ในเลือดมากเกินไป จะทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่นกัน
  • ไขมันชนิด HDL (High Density Lipoprotein) เป็นไขมันดีที่ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลที่สะสมตามผนังหลอดเลือดและตามเนื้อเยื่อต่างๆ ไปทำลายที่ตับ หากมีไขมัน HDL ในเลือดสูงจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเราสามารถเพิ่มไขมัน HDL ให้ร่างกายได้ด้วยการออกกำลังกาย

คนอ้วนที่มีไขมันในร่างกายมากเกินไป…ควรระวัง!
แม้ว่าไขมันในร่างกายจะมีประโยชน์ด้วยตัวของมันเอง แต่ถ้ามีมากเกินไป ไขมันเหล่านี้ก็จะสร้างผลเสียให้กับร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการสะสมในส่วนต่างๆ เช่น สะสมในใต้ชั้นผิวหนัง เนื้อเยื่อของเซลล์ หรือไขมันที่เกิดจากการสะสมของน้ำตาลที่แปรสภาพเป็นไขมันเข้าไปเกาะตามส่วนต่างๆ อย่างบริเวณหน้าท้อง ทำให้กลายเป็นคนอ้วนลงพุง

ไขมันหน้าท้อง อันตรายกว่าที่คิด
ไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้องนี้ เป็นอันตรายมากกว่าไขมันที่สะสมอยู่ในส่วนอื่น เพราะไขมันตรงนี้จะสลายเป็นกรดไขมัน และละลายเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ไขมันเข้าไปเกาะตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ง่าย เช่น ไขมันพอกตับ หากปล่อยไว้เรื่อยๆ ตับอาจถูกทำลายหรือที่เรียกว่า ตับแข็งก็เป็นได้ ถ้าหากไขมันในเลือดมีมากจนเกินไปก็ส่งผลให้ไขมันอุดตันตามเส้นเลือดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม “ไขมันที่สะสม” อยู่ในร่างกายของเรานั้นเป็นสิ่งจำเป็น โดยไขมันจะทำหน้าที่ของมันเองตามแต่ละชนิด แต่ไขมันที่มีมากเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะจะมีการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดมากกว่าปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนกลายเป็นความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ “ภาวะไขมันในเลือดสูง” ได้ ดังนั้น เราจึงไม่ควรปล่อยให้ตนเองให้มี “น้ำหนักเกิน” จากไขมัน และควร “ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี”




ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

คลินิกอายุรกรรม อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02- 514-4141 ต่อ 1100, 1101
Line : Paolochokchai4