คลินิกผู้มีบุตรยาก… ช่วยในการมีลูก ได้อย่างไร?
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
26-ก.ย.-2561
title “หลายคู่รักหลังเเต่งงาน” อาจมีความพยายาม “อยากมีลูก” ด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอมาแล้วเป็นระยะเวลา 1 ปี และยังไม่สำเร็จ หากคิดจะมีลูกแน่นอนว่างานนี้คงต้องรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นการด่วน อย่างที่คลินิกผู้มีบุตรยาก เพื่อช่วยกันหาสาเหตุและทางออกของการมีลูกที่ตรงจุดต่อไป

เมื่อไหร่ถึงต้องไปคลินิกผู้มีบุตรยาก?
ลองประเมินตัวเองเบื้องต้นถึงความพยายามในการมีลูก เช่น มีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ซึ่งปกติจะมีโอกาสในการตั้งครรภ์ 50% ภายในระยะเวลา 5 เดือน และเพิ่มเป็น 80-90% ในระยะเวลาหนึ่งปี หากยังไม่สามารถตั้งครรภ์ก็ควรมาพบแพทย์ หรือพบว่าตนเองมีอายุมากขึ้น และไม่อยากเสี่ยงมีลูกตอนอายุมาก หรือไม่แน่ใจว่าตนเองมีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ ก็สามารถนัดพบแพทย์เพื่อทำการปรึกษาเรื่องการมีบุตรได้ทันที ซึ่งคลินิกผู้มีบุตรยากจะมีทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการและเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับช่วยเหลือผู้มีภาวะมีบุตรยากหลากหลายวิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ ปัญหาของผู้มีบุตรยาก และงบประมาณในการรักษา

แพทย์จะเริ่มทำการรักษาอย่างไร?
โดยปกติแล้วแพทย์จะทำการซักประวัติของคู่สามี-ภรรยาที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก สอบถามประวัติทางการแพทย์ แล้วทำการตรวจร่างกายทั้งสองฝ่าย เพื่อหาสาเหตุเบื้องต้นของการมีบุตรยากก่อน เช่น ฝ่ายชาย จะมีการตรวจเชื้ออสุจิ ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนเพศ และตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือในฝ่ายหญิง ก็จะทำการตรวจภายในหรืออัลตร้าซาวด์เพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ตั้งแต่ มดลูก ท่อนำไข่ ผนังมดลูก ฯลฯ และตรวจเลือดเช็คระดับฮอร์โมนเพศ ตรวจหาความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หากพบความผิดปกติที่ไหนก็อาจจะมีการผ่าตัดรักษาต่อไป

แนวทางการรักษาของคลินิกผู้มีบุตรยาก
หลังจากแพทย์ทำการตรวจเบื้องต้น หากพบสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้ก็จะทำการรักษา เช่น ให้รับประทานยา ผ่าตัดเพื่อแก้ไขส่วนที่มีปัญหานั้น และจะใช้ความพยายามในการรักษาต่อไป โดยมากแพทย์จะให้ใช้วิธีธรรมชาติก่อน เช่น การทานยากระตุ้นการตกไข่ร่วมกับการนับวันตกไข่สำหรับเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ แต่หากรักษาต่อเนื่องไป 3-6 ครั้งแล้วมีแนวโน้มว่ายังไม่สำเร็จ แพทย์ก็อาจจะแนะนำให้ใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ตามมา ดังนี้

1. การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก หรือผสมเทียม (Intra-Uterine Insemination: IUI)

  • คือการฉีดเชื้ออสุจิ (ที่มีการเก็บและคัดเชื้อไว้แล้ว) เข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงในช่วงที่มีการตกไข่ ใกล้เคียงกับวิธีทางธรรมชาติ หลังจากนอนพักอย่างน้อย 30-60 นาทีก็สามารถกลับบ้านได้เลย ซึ่งวิธีนี้จะมีโอกาสในการตั้งครรภ์ 10-20% และอาจใช้เวลา 3-6 ครั้งในการรักษาที่มักประสบความสำเร็จ

2. การทำกี๊ฟ (Gamete Intra-Fallopian Transfer : GIFT)

  • คือการนำไข่และเชื้ออสุจิที่มีการเตรียมเอาไว้กลับเข้าไปใส่ในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง เป็นการเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิบริเวณท่อนำไข่มากขึ้น ซึ่งไข่ที่ผสมแล้วหากเจริญไปเป็นตัวอ่อน และกลับไปฝังตัวที่โพรงมดลูกก็มีโอกาสตั้งครรภ์ต่อไป แต่ปัจจุบันนี้การทำกี๊ฟค่อนข้างยุ่งยาก และมีโอกาสเกิดการติดเชื้อมากกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว แต่มีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 20-30% ซึ่งน้อยกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว จึงค่อนข้างไม่นิยมรักษาด้วยวิธีนี้กันแล้ว

3. การทำเด็กหลอดแก้ว (InVitro Fertilization : IVF) และ (IntraCytoplasmic Sperm Injection: ICSI)

  • ทั้งสองวิธีเป็นการฉีดยาเพื่อกระตุ้นรังไข่ แล้วทำการเก็บไข่และเชื้ออสุจิออกมาปฏิสนธิภายนอกร่างกาย เลี้ยงจนเป็นตัวอ่อนอายุ 3-5 วัน แล้วจึงทำการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง แต่ความแตกต่างของ ICSI คือขั้นตอนการปฏิสนธินั้น IVF จะใส่เชื้ออสุจิจำนวนหนึ่งกับไข่เพื่อให้ปฏิสนธิกันเอง แต่ ICSI จะใช้ในกรณีที่เชื้ออสุจิมีน้อย ก็จะใช้การฉีดเชื้ออสุจิหนึ่งตัวเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิเกิดขึ้น ซึ่งทั้งสองวิธีนี้จะช่วยให้มีโอกาสตั้งครรภ์ 30-50%






  • ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
    ศูนย์สุภาพสตรี อาคาร 
    ชั้น 2
    โทร
    . 02-514-4141 ต่อ 5148 - 5220
    Line id : @Paolochokchai4