ข้อไหล่ติด ภัยเงียบใกล้ตัวที่ควรระวัง
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
08-พ.ย.-2561
title ข้อไหล่ติด เป็นอีกหนึ่งอาการที่สร้างความเจ็บปวด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งอาการข้อไหล่ติดมักพบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และในผู้ป่วยกลุ่มที่มีโรคประจำตัว อย่าง โรคเบาหวาน

แต่ทั้งนี้ “ภาวะข้อไหล่ติด” ก็อาจเกิดกับวัยทำงานได้เช่นกัน จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบใกล้ตัว ที่เราควรทำความรู้จัก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเจ็บปวดนี้!

“ข้อไหล่ติด” มีสาเหตุมาจากอะไร?

การอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อไหล่ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะข้อไหล่ติด โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อไหล่ได้นั้น อาจเกิดจากการกระแทกของข้อไหล่ การขยับข้อไหล่เป็นเวลานาน การอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือการอักเสบของเอ็นโดยรอบข้อไหล่ ซึ่งเมื่อเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อไหล่ จะทำให้ไม่สามารถยืดหยุ่นได้เหมือนเดิมผู้ป่วยจึงมักมีปัญหาจากการขยับข้อไหล่ได้ลดลง

สัญญาณเตือน “อาการข้อไหล่ติด”

ระยะที่ 1 ระยะอักเสบ ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงอาการเจ็บปวดที่ค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และยังคงมีอาการปวดแม้ไม่ได้ทำอะไรปวดทั้งเวลากลางวันและกลางคืน โดยระยะนี้มักกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

ระยะที่ 2 ระยะข้อยึด อาการปวดที่เกิดขึ้นในช่วงระยะแรกอาจยังคงอยู่หรือค่อยๆ ลดลง ในขณะที่การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลง และอาจส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน ซึ่งการพยายามดัดข้อไหล่แรงๆ อาจส่งผลให้ระดับการอักเสบเพิ่มขึ้นได้ โดยระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 4-9 เดือน

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว ในระยะนี้อาการปวดจะค่อยๆ ทุเลาลง และการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะค่อยๆ ดีขึ้น จนสามารถกลับมาใช้งานแขนได้เป็นปกติ

ข้อไหล่ติด…รักษาให้หายได้

ในการรักษาอาการข้อไหล่ติดมีอยู่หลายวิธี โดยในระยะแรกอาจใช้การรักษาด้วยยาแก้ปวดและต้านการอักเสบ ส่วนผู้ป่วยระยะข้อยึดจะมีการทำกายภาพบำบัดด้วยการใช้อุปกรณ์ความร้อนต่างๆ การดัดข้อไหล่โดยนักกายภาพบำบัดและการใช้เครื่องมือในการบริหารเคลื่อนไหวของข้อไหล่ แต่หากอาการข้อไหล่ติดไม่ดีขึ้นหลัง 6-8 เดือน อาจเปลี่ยนวิธีเป็นการส่องกล้องข้อไหล่เพื่อดัดขยายถุงหุ้มไหล่ให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

สอบถามรายละเอียด

ศูนย์กระดูกและข้อ อาคาร 2 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105