การให้ยาเคมีบำบัด เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
05-ม.ค.-2567
ยาเคมีบําบัด หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “คีโม” ที่ย่อมาจาก “คีโมเทอราปี” (Chemotherapy) ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่รู้ว่าการให้ยาเคมีบำบัดคืออะไร แล้วทำต้องได้รับยาเคมีบำบัด และหากรับยาเคมีบำบัดแล้วจะมีผลข้างเคียงอะไรไหม ซึ่งความกังวลเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายใจ หรือวิตกกังวลได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความหวัง และมีกำลังใจที่จะพร้อมสู้ไปกับโรคมะเร็ง


ยาเคมีบำบัด คืออะไร?
ยาเคมีบำบัด เป็นกลุ่มสารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้ง และทำลายเซลล์มะเร็งที่มีการเจริญเติบโต หรือมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง ซึ่งการให้ยาเคมีบำบัดจะทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด แต่ในขณะเดียวกันยาเคมีบำบัดก็มีส่วนในการทำลายเซลล์ปกติที่มีการเติบโตในร่างกายของเราด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียง เช่น อาเจียน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ผมร่วง ซึ่งอาการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับชนิดของยา และความพร้อมของร่างกาย หรือสภาพจิตใจของผู้ป่วยร่วมด้วย


ให้ยาเคมีบำบัดเพื่ออะไร? สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • เพื่อประโยชน์ในการรักษา ให้หายขาดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง และไม่กลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งโรคมะเร็งบางชนิดที่มีโอกาสหายขาด อาจจะต้องใช้เวลาในการตรวจติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลาหลายปี เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยหายขาดจากโรคมะเร็งแล้ว เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม
  • เพื่อยับยั้ง หรือหยุดยั้ง การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และไม่ให้มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
  • เพื่อประคับประคอง ซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกายแล้ว หรืออยู่ในระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องการรักษาคุณภาพชีวิตไว้ เช่น การให้เคมีบําบัดที่ใช้ในการบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดจากมะเร็ง หรือหยุดยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นในร่างกาย
หลังจากให้ยาเคมีบำบัดแล้ว แพทย์จะให้ระยะเวลาคนไข้พักฟื้นประมาณ 3-4 สัปดาห์ หรือรอจนกว่าจำนวนเม็ดเลือดขาว และสภาพร่างกายแข็งแรงพอจะรับยาเคมีบำบัดในครั้งต่อไป ซึ่งในกระบวนการรักษาโรคมะเร็งบางชนิดอาจต้องใช้การรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงและการผ่าตัด จนกว่าจะจบการรักษา


ยาเคมีบำบัดสามารถบริหารเข้าสู่ร่างกาย ได้หลายวิธี ได้แก่
  • ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน  โดยจะช่วยให้การบริหารยาสะดวกมากขึ้น และลดการเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งในปัจจุบันยาเคมีบำบัดในรูปแบบรับประทาน ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการองค์กรอาหารและยาแห่งประเทศไทย ให้ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งดังต่อไปนี้ คือ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด
  • ยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด โดยการหยดร่วมกับสารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งยากลุ่มนี้มักก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือทำลายเนื้อเยื่อ จะถูกฉีดเข้ากระแสเลือดโดยตรง เพื่อจะทำให้ยาเจือจางอย่างรวดเร็วและเริ่มทำงานได้ทันที ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากต้องมีการติดตามอาการหลังได้รับยาอย่างใกล้ชิด
  • ยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ  ยาบางชนิด มีประสิทธิภาพดีที่สุดเมื่อถูกปล่อยอย่างช้าๆ เข้าสู่กระแสเลือด  ยาชนิดนี้จะถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อมากกว่าฉีดเข้าหลอดเลือดโดยตรง


ระยะเวลาในการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด

ระยะเวลาในการรักษาด้วยเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระยะของโรค และการตอบสนองต่อยา โดยปกติยาเคมีบำบัดจะให้เป็นรอบการรักษา ใช้เวลา 1-5 วันต่อรอบ และห่างกัน 3-4 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับเคมีบำบัดเฉลี่ย 6-8 รอบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแผนการรักษาเฉพาะบุคคลที่แพทย์ได้วางแผนไว้ และจำเป็นต้องรับยาเคมีบำบัดตามนัดทุกครั้ง เพื่อให้ผลของการรักษามีผลลัพธ์ที่ดี


โอกาสในการแพ้ยาเคมีบำบัด
ยาเคมีบำบัด มีลักษณะเหมือนยาทุกตัวที่มีโอกาสแพ้ได้ในทุกคน เมื่อให้ยาเคมีบำบัดเข้าไป ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการคัน ผื่นขึ้นตามร่างกาย และหากมีอาการรุนแรงก็จะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก โดยการจัดการอาการแพ้ก็จะเป็นการให้ยาแก้แพ้ แล้วอาจจะมีการยืดระยะเวลาในการให้ยาเคมีบำบัดนี้ออกไป แต่หากคนไข้แพ้แล้วหายใจไม่ออกหรือแน่นหน้าอก ก็อาจจะหยุดการให้ยาเคมีบำบัดชนิดนี้ และเปลี่ยนชนิดของยาไป
ซึ่งสามารถสังเกตอาการแพ้ได้ หากมีอาการแพ้เฉียบพลันก็อาจจะเกิดได้ทันทีหลังจากให้เคมีบำบัด และหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดจะต้องสังเกตอาการแพ้ ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับชนิดของยา และระบบการทำงานภายในร่างกายของผู้ป่วย เช่น ตับ ไต เป็นต้น


ผลข้างเคียงของการให้ยาเคมีบำบัด
อาการจากผลข้างเคียงของยาเคมีบําบัดที่จะเกิดขึ้นในแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของเคมีบําบัดที่ได้รับ สภาพร่างกายก่อนที่ได้รับยาเคมีบําบัด ชนิดและระยะของโรคมะเร็ง ซึ่งอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ก็คือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน แล้วก็อาจมีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากยาเคมีบำบัดไปกดไขกระดูกทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวผลิตได้น้อยลง ซึ่งผลข้างเคียงอาจเกิดได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังให้ยาเคมีบำบัด หรืออาจเกิดได้หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว โดยแพทย์จะสั่งยาแก้แพ้ไปให้ผู้ป่วยรับประทาน และผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ครบตามคำแนะนำ เพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียงที่เกิดจากการให้ยาเคมีบำบัด


การเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนให้ยาเคมีบำบัด
ผู้ป่วยจะต้องมีสภาวะร่างกายที่เหมาะสม และแข็งแรง ไม่อ่อนเพลีย เพราะการได้รับยาเคมีบำบัดไปจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียมากขึ้น หรือในบางสูตรยาอาจต้องมีการเจาะเลือด เพื่อดูระดับค่าเม็ดเลือดขาวหรือเม็ดเลือดแดง ซึ่งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ จะต้องแจ้งแพทย์ทันทีก่อนให้ยาเคมีบำบัด รวมถึงผู้ป่วยจะต้องมีสภาพจิตใจให้พร้อมรับการรักษา และลดความกังวลหรือความกลัวลง เพื่อให้การให้ยาเคมีบำบัดครั้งนี้มีผลลัพธ์ที่ดี และมีอาการข้างเคียงน้อยลง


ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องดูแลสุขภาพให้ดี ทั้งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด ออกกำลังกายเบาๆ หรือเคลื่อนไหวให้ร่างกายสดชื่น และไม่เครียดจนเกินไป เพื่อให้ร่างกายสามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามที่ต้องการ รวมถึงหากรู้สึกกังวลในเรื่องของผลข้างเคียงหลังการให้ยาเคมีบำบัด สามารถปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรได้ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันกับผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น