5 พฤติกรรมเสี่ยง… หลีกเลี่ยงปัญหา”นิ้วล็อค”
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
05-ต.ค.-2561
title “มือ” เป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะหยิบจับสิ่งของหรือใช้งานในกิจกรรมต่าง ๆ และจากพฤติกรรมการใช้งานของมือในแต่ละคน ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนิ้วล็อคได้

โรคนิ้วล็อค…เป็นอย่างไร

โรคนิ้วล็อคคืออาการที่นิ้วเกิดล็อคเมื่องอนิ้วแล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ง่ายซึ่งเกิดจากการอักเสบของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ อาการนี้มักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ใช้นิ้วมือทำงานอย่างหนัก

ยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่เรามักจะหยิบมาอัพเดทข่าวสารแชทกับเพื่อนหรือเล่นเกมอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำกินข้าวหรือก่อนนอน นอกจากนี้ด้วยพฤติกรรมที่เรามักจะใช้ชีวิตอยู่กับคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ทำให้พบอาการนิ้วล็อคได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

พฤติกรรมเสี่ยง… แบบไหนที่ควร “หลีกเลี่ยง”

1.การใช้นิ้วมือในท่าเดิมๆ เป็นเวลานานๆ เช่น กดแป้นพิมพ์ เล่นเกมส์การใช้กรรไกรตัดสิ่งของแข็งๆ ที่ใช้แรงบีบมาก และตัดเป็นเวลานานๆ อยู่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานานๆ ต่อเนื่องกัน
2.การหิ้วของหนักเกินไป เช่น หิ้วตะกร้า ถุงพลาสติก หรือ ถังน้ำ ควรจะใช้รถเข็นแทน แต่ถ้าจำเป็นต้องหิ้วก็ต้องใช้ผ้าขนหนูรองถุงหิ้ว เพื่อให้ช่วยรับน้ำหนักของฝ่ามือ จะช่วยลดการเกิดนิ้วล็อคและเจ็บปวดของมือได้
3.บิดผ้าหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมาก ๆ ยิ่งถ้าบิดผ้าแห้งมากเท่าไหร่ ก็จะเป็นการทำร้ายปลอกเอ็นข้อมือมากเท่านั้น ถ้าทำบ่อยๆ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดนิ้วล็อคได้
4.หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ บีบ จับ หรือยกของหนักประจำ เป็นเวลานาน ๆ ควรใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้น ใช้ฟองน้ำหรือผ้านุ่มๆพันรอบข้อมือขณะจับสิ่งของ ควรระวังการกำหรือบดในขณะที่ต้องใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น เลื่อย ไขควง ค้อน รถเข็น รถลาก เป็นต้นควรใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับให้ใหญ่และนุ่มขึ้น
5.การเล่นกีฬาประเภท ตีกอล์ฟ การตีเทนนิส ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดนิ้วล็อคมากกว่ากีฬาประเภทอื่น เพราะต้องใช้กำลังแขนและข้อมือในการตีลูกอย่างแรงและต่อเนื่อง จึงควรใช้ผ้าหุ้มด้ามจับให้หนาและนุ่ม และพยายามหลีกเลี่ยงการเล่นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ

นิ้วล็อค… รักษาได้ แค่รู้จักเลือกวิธีที่เหมาะสม

ส่วนแนวทางการแก้ไขสำหรับผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อคขึ้นมาแล้ว ถ้าหากมีอาการนิ้วล็อคที่ไม่รุนแรงมากนัก วิธีที่ได้ผลดีคือ การบำบัดหรือบริหารนิ้ว เช่นการตั้งมือขึ้นแล้วกำมือ โดยเริ่มจากการงอปลายนิ้วลงบริหารซ้ำหลาย ๆ ครั้งหรือทำทุกครั้งที่มีเวลาว่างหรือใช้วิธีการตั้งมือขึ้นแล้วพับนิ้วลงพร้อมกันในลักษณะเป็นมุมฉากทำกลับไปกลับมา 5-10 ครั้งเพื่อให้เอ็นมีการเคลื่อนไหวไม่ติดกัน แต่สำหรับคนที่มีอาการที่รุนแรงบำบัดแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

โรคนิ้วล็อคแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็เป็นโรคที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยอยู่ไม่น้อย ดังนั้นการป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ มากกว่าการที่จะต้องมาหาทางรักษาในภายหลัง

สอบถามรายละเอียด
ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ อาคาร 2 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105