“ปวดเข่า เข่าลั่น เดินแล้วปวดเข่า” เรื่องปกติหรือสัญญาณอันตราย
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
17-ต.ค.-2565

การที่เราอยากมีสุขภาพดี ไม่อยากเจ็บป่วยรุนแรง นอกจากจะต้องหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่เสมอ ซึ่งหลายครั้งเราสามารถดูได้จากศักยภาพและประสิทธิภาพในการใช้ร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหวยังดีอยู่ไหม มีความเจ็บปวดหรือฝืดขัดในการทำกิจกรรมใดๆ บ้างหรือเปล่า อย่างเช่น เริ่มมีอาการปวดเข่า เข่าฝืดตึงจากโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเราสามารถป้องกันการลุกลามได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการพบแพทย์


อาการเตือนเล็กๆ ที่ไม่เล็ก เพราะเป็นเรื่องของข้อเข่า

บ่อยครั้งที่เรามักคิดเข้าข้างตัวเองว่ายังแข็งแรงดี จนมองข้ามอาการเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ปกติของตัวเองไป เช่น มีอาการปวดเข่า จะลุกหรือนั่ง จะยืนหรือเดิน ก็ทำได้ไม่คล่องหรือไม่สะดวกเหมือนก่อน หรือแม้แต่พอได้ยินเสียงเข่าลั่นดังก๊อกแก๊กก็กลับไม่สนใจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็เป็นกัน ไม่ได้เกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงในข้อเข่าน้อยลงหรือกระดูกข้อเข่าสึกกร่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสัญญาณหรืออาการเตือนเล็กๆ เหล่านี้แหละ คือจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่ หากเรารีบไปตรวจแพทย์ก็สามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคให้ได้ หรือแม้แต่รักษาหายขาดได้จากการใช้ยาและการปรับพฤติกรรม เป็นต้น


ก่อนเข่าเสื่อมหนัก..เราสังเกตอะไรได้บ้าง?

  • เวลาเปลี่ยนท่า เช่น ลุกขึ้นยืน เดิน จะมีเสียงลั่นในข้อร่วมกับมีอาการปวดหัวเข่า บางคนปวดเฉพาะตอนที่กด แต่บางคนอยู่เฉยๆ ไม่ต้องกดก็ปวด

  • รู้สึกฝืดๆ เวลาขยับหัวเข่า เหมือนมีอะไรขัดๆ นิดๆ อยู่ข้างใน

  • นั่งพับเพียบหรือนั่งขัดสมาธิแล้วรู้สึกเจ็บ หรือบางครั้งก็ตึงจนนั่งไม่ได้เลย

  • ตื่นนอนตอนเช้า บางวันจะรู้สึกเหมือนขยับตัวได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะบริเวณหัวเข่าจะฝืดขัด ต้องรอเวลาสักพักขึ้นขยับได้

ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้มักจะเกิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และหากไม่เคยได้รับการรักษาหรือปรึกษาแพทย์เพื่อการแก้ไข ก็อาจนำไปสู่อาการเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น ซึ่งระดับความรุนแรงของโรคก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การเป็นผู้สูงอายุ มีน้ำหนักตัวมาก เคยใช้งานข้อเข่าหนักๆ เป็นประจำมาก่อน



ไม่อยากเข่าเสื่อม ต้องรู้จักป้องกันแต่เนิ่นๆ

เริ่มจากคอยสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นข้างต้น หากมีอาการควรรีบพบแพทย์ นอกจากนั้นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช้งานข้อเข่าหนักเกินไป และเลือกออกกำลังกายประเภทไม่มีแรงกระแทกที่หัวเข่า เช่น การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน พร้อมกับบริหารสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อรอบๆ หัวเข่า เพื่อลดภาระของข้อเข่าในการแบกรับน้ำหนักตัว ซึ่งการรักษาน้ำหนักตัวให้ไม่เกินมาตรฐานก็สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน 



หากเริ่มรู้สึกปวดเข่า ให้ใช้ผ้ารัดเข่าช่วยพยุงและลดการกระแทกลง พยายามไม่ยืนหรือนั่งงอเข่าเป็นเวลานานๆ ติดต่อกัน หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสายบ่อยๆ หากมีอาการที่น่าสงสัยและเป็นติดต่อกันนาน มีอาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้น ไม่ควรรักษาหรือวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาให้ตรงอาการและตรงโรคจะดี
กว่า




ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
อาคาร 2 ชั้น 2

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 1102-1105