“ขาโก่ง ขาสั้น ขายาวไม่เท่ากัน” ปัญหาทางสรีระของลูกน้อย…ที่แก้ไขได้
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
06-ก.ย.-2561
ลักษณะของขาที่โก่ง สั้น หรือยาวไม่เท่ากัน เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดอาการวิตกกังวลได้ไม่น้อย เพราะนอกจากจะทำให้ลูกเดินไม่สวยและเสียบุคลิกภาพแล้ว ยังอาจกลายเป็นปมด้อยที่ติดตัวคุณหนูๆ ไปตลอดชีวิต ถ้าไม่รีบแก้ไ

ลักษณะแบบไหน…เรียกว่า “ขาโก่ง”

ขาโก่ง เป็นลักษณะของช่วงเข่าทั้ง 2 ข้างที่โค้งแยกออกจากกันในขณะที่ยืนเท้าชิดติดกัน ซึ่งเป็นอาการที่มักพบได้ทั่วไปในเด็กทารกช่วงวัยหัดเดิน โดยมีโอกาสที่จะดีขึ้นและหายไปได้เมื่อเด็กเริ่มยืดขาและหัดเดิน ซึ่งในบางเคสอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่บางครั้งอาการขาโก่งนั้นก็อาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้เช่นกัน และหากมีอาการขาโก่งในระยะยาวแต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจนำไปสู่ภาวะข้ออักเสบบริเวณหัวเข่าและสะโพกได้ในอนาคต


ภาวะขาโก่ง…มีกี่แบบ

สำหรับภาวะขาโก่ง เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

1.ขาโก่งตามธรรมชาติ หรือขาโก่งปกติ

จะพบมากในเด็กช่วงวัยก่อน 2 ขวบ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากในขณะที่อยู่ในครรภ์นั้น มีอาการขดตัว ทำให้เกิดการตึงของเส้นเอ็น และการรั้งของกล้ามเนื้อด้านในของข้อเข่า แต่พอเด็กเริ่มยืนได้ กล้ามเนื้อส่วนนี้จะมีการออกแรง ร่างกายก็จะปรับเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าที่จริงๆ ก็เมื่อเด็กมีอายุประมาณ 2 ขวบขึ้นไป

2.ขาโก่งที่เกิดจากความเป็นโรค หรือขาโก่งผิดปกติ

ประเภทนี้มีสาเหตุมาจากเนื้อกระดูกที่ผิดปกติ หรือเป็นอาการหนึ่งของกลุ่มโรคกระดูกอ่อน ข้อเข่าเสื่อม หรือเกิดจากความผิดปกติของข้อสะโพก ซึ่งสามารถสังเกตได้จากเวลายืนหรือเดิน เด็กมักจะหมุนขาเข้าใน ซึ่งถ้าหลังจากลูกอายุ 3 ขวบไปแล้ว ยังมีลักษณะขาโก่งและมีลักษณะการเดินที่เหมือนเป็ด ให้ถือว่ามีความผิดปกติ

ทั้งนี้เมื่อสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการขาโก่ง ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่าดัดขาหรือบิดเท้าให้เด็กเอง และอย่าตัดสินใจทำอะไรไปด้วยตัวเองโดยฟังจากคำบอกเล่าของคุณแม่คนอื่นๆ เพราะว่าสรีระร่างกายของแต่ละคนนั้นต่างกัน จึงควรที่จะต้องได้รับการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง จึงจะให้ผลด้านการรักษาที่ดีที่สุดต่อลูกน้อย

เมื่อลูกน้อย…ขายาวไม่เท่ากัน

“ขายาวไม่เท่ากัน” ก็เป็นอีกปัญหาที่เจอกันอยู่บ่อยๆ โดยที่ขาอาจจะมีความยาวต่างกัน 2 เซ็นติเมตรหรือมากกว่า และจะเป็นอย่างนั้นไปจนโต แต่ก็มีโอกาสที่กลับมาเท่ากันในระยะหลังได้ เช่น เกิดเหตุการณ์กระดูกหักแล้วต้องเข้ารับการรักษา เพราะจะทำให้กระดูกเกยกันและมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงเยอะขึ้นกว่าเดิม ขาก็จะสามารถยาวขึ้นมาจนเท่ากันได้ ซึ่งก่อนการรักษาจำเป็นต้องรู้สาเหตุก่อน เช่น เกิดจากการติดเชื้อในศูนย์การเจริญเติบโตที่ผิดไป หรือมีเนื้องอกที่ทำให้ศูนย์การเจริญเติบโตเปลี่ยนไป หรือเกิดจากความพิการแต่กำเนิด ซึ่งเมื่อหาสาเหตุได้แล้ว ถึงจะทำการรักษาได้อย่างถูกวิธี

แก้ไขได้ด้วยการ “ยืดกระดูก”

การทำให้ขายาวขึ้นนั้น ส่วนมากจะใช้วิธีการยืดกระดูกโดยการผ่าตัด แล้วจึงยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะซึ่งมีหลายชนิด แล้วจะตัดกระดูกให้ขาดจากกัน จากนั้นก็จะทำการยืดวันละมิลฯ กระดูกก็จะงอกขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อนั้นยืดตามจนได้ในระดับที่ต้องการ และการรักษาอีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยม ก็คือ การตัดกระดูกให้สั้นเท่ากันแต่จะไม่ทำให้สั้นลงมาก ถ้าเป็นเด็กก็จะมีการคำนวณเวลาให้เหมาะสม และเชื่อมไม่ให้กระดูกโต เพราะว่าเด็กยังมีศูนย์การเจริญเติบโต ซึ่งอาจจะทำให้ขาโตได้ จึงจะใช้วิธีการเข้าไปทำลายกระดูกในขาข้างที่ยาวออกไป ส่วนขาอีกข้างที่สั้นกว่าก็จะโตขึ้นไปเรื่อยๆ ในที่สุดขาก็จะมีความยาวเท่ากัน แต่ทั้งนี้ในการรักษาจะต้องมีการคำนวณที่ดีและรอบคอบเป็นอย่างมาก

สรุปได้ว่าแม้อาการขาไม่เท่ากันจะไม่อันตรายในตัวมันเอง แต่โรคขาไม่เท่ากันจะเป็นตัวช่วยขยายอาการของโรคปวดกล้ามเนื้อ-เส้นเอ็นอื่นๆ ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาและแก้ไขอย่างถูกวิธี เพื่อบุคลิกภาพที่ดีและลดโอกาสเสี่ยงของโรคอื่นๆ ที่อาจจะตามมา

สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105