โรค “เท้าปุก เท้าแป” เป็นแล้วให้รีบรักษา…อย่าปล่อยทิ้งไว้จน “พิการ”
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
05-ก.ย.-2561
ครอบครัวที่กำลังจะมีสมาชิกใหม่ ก็ย่อมมีความหวังว่าลูกที่เกิดมาจะมีสุขภาพแข็งแรงและอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ แต่บางครั้งแม้จะมีอวัยวะที่ครบสมบูรณ์ แต่ก็อาจมีลักษณะที่ไม่ปกติ ผิดจากเด็กทั่วไป ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุด คือ โรคเท้าปุก เท้าแป ซึ่งถือเป็นความผิดปกติของทารกที่มีมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา และเมื่อเด็กคลอดออกมา ก็จะมีลักษณะของฝ่าเท้าที่ผิดแปลกไป ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้เด็กมีความพิการได้ ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไข

มาทำความรู้จัก โรค “เท้าปุก เท้าแป” กันก่อน

โรคเท้าปุก และ เท้าแป เป็นความผิดปกติของรูปเท้าซึ่งมักเป็นตั้งแต่แรกเกิด หรืออาจค่อยๆ เกิดขึ้นในภายหลัง อาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้ โดยโรคเท้าปุกนั้น เท้าจะมีลักษณะที่บิดหมุนเข้าด้านในและปลายเท้าจิกลง ส่วนเท้าแป เป็นภาวะผิดปกติอีกอย่างที่เกิดกับเท้าเด็กซึ่งมีความแตกต่างจากเท้าปุก ตรงที่เท้าแปนั้น เท้าของเด็กเล็กส่วนใหญ่จะยังมองไม่เห็นอุ้งเท้าที่ชัดเจนจนกว่าจะอายุ 5 ขวบ ทำให้การรักษามักจะเป็นการรักษาในเด็กที่โตแล้ว แต่เด็กที่เป็นเท้าแปจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเด็กปกติ สามารถวิ่งเล่น ทำกิจกรรม ได้ตามปกติ แต่ก็มีข้อด้อยคือ เมื่อเล่นกีฬาหรือเดินเป็นระยะเวลานาน อาจจะเกิดอาการเมื่อยบริเวณข้อเท้าและหน้าแข้งง่ายกว่าเด็กทั่วไป

ปัจจัยหลัก…ว่าด้วยเรื่องของ “พันธุกรรม”

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรคนี้ ทราบแต่เพียงว่า มีหลายปัจจัยส่งเสริมให้เป็น และปัจจัยหลักมักเกี่ยวกับพันธุกรรม ซึ่งเราสามารถแบ่งลักษณะของเท้าปุกออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 เท้าปุกเทียม

เท้าปุกชนิดนี้จะไม่ร้ายแรง เท้าจะไม่เล็กหรือสั้นลง ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และจะหายได้ดีโดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ร่วมกับการดัด ดึง หรือการเข้าเฝือก ก็สามารถหายได้ 100%

กลุ่มที่ 2 เท้าปุกแท้

เท้าจะมีความแข็ง และตัวเท้าจะสั้น ส่วนของน่องก็จะเล็กลง สังเกตได้ว่าเท้าจะมีลักษณะการเขย่งของเอ็นร้อยหวาย ลักษณะของเท้ากลุ่มนี้จะต้องได้รับการเข้าเฝือก หรือการผ่าตัดแก้ไข อย่าปล่อยทิ้งไว้จนเด็กโต สามารถทำการผ่าตัดได้ตั้งแต่อายุประมาณ 4 เดือน หลังรับการผ่าตัดเด็กก็จะหายดี เดินวิ่งได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งการผ่าตัดในช่วงอายุน้อย จะผ่าเข้าไปเพื่อจัดรูปเท้าโดยคลายเนื้อเยื่อที่ตึงแข็งและจัดเรียงข้อให้รูปเท้าสวย ส่วนการผ่าตัดเมื่ออายุมาก กระดูกเท้าจะแข็งและผิดรูป อาจจะต้องตัดแต่งกระดูก เพื่อให้รูปเท้าดูปกติภายหลังผ่าตัดรักษา สรุปได้ว่า การรักษาด้วยการผ่าตัดตั้งแต่แรกเกิดจะง่ายและให้ผลที่ดีกว่า

วิธีดูแล เพื่อลดความเสี่ยง “พิการ”

ปัจจุบัน สามารถพบโรคนี้ได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ของเด็กคลอดใหม่ และมีโอกาสมากขึ้นในครอบครัวที่มีญาติพี่น้องที่เคยเป็นโรคนี้ และเพื่อเป็นการป้องกันการกลับไปเป็นซ้ำอีกหลังจากที่ได้รับการรักษาจนเท้ากลับมามีรูปร่างที่ปกติแล้ว จึงควรที่จะต้องทำการดัดเท้าเด็กทุกวัน และควรให้เด็กใส่รองเท้าเฉพาะเพื่อให้เท้าคงอยู่ในรูปที่ต้องการ จนอายุประมาณ 5 ปี และถึงแม้ว่ารูปเท้าจะกลับมาเป็นปกติ จนเด็กสามารถเดินหรือวิ่งได้เหมือนเด็กปกติแล้วก็ตาม แต่ผู้ปกครองควรนำเด็กมาติดตามดูอาการต่อจนถึงช่วงอายุประมาณ 8 – 9 ปี เพราะเป็นช่วงที่พัฒนาการของเท้าและการเดินเหมือนวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ความสำเร็จในการรักษายังมีส่วนสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะต้องร่วมมือในการรักษาอย่างเต็มที่ จึงจะได้ผลการรักษาที่ดี และทำให้เท้าของลูกน้อยกลับมามีรูปร่างที่ปกติอย่างสมบูรณ์

สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105