เจาะลึกเทคนิคการรักษา “โรคข้อเข่าเสื่อม”
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
18-ต.ค.-2565

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น หลากหลายปัญหาสุขภาพก็ถาโถมให้ได้รับมือกันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งโรคที่เกี่ยวข้องกับ “กระดูก” และ “กล้ามเนื้อ”   อย่าง “โรคข้อเข่าเสื่อม” ก็นับเป็นอีกปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย

 

ลักษณะอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

เป็นอาการที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ฉาบผิวกระดูกข้อต่อไว้ไม่ให้มีการเสียดสีกันเมื่อเคลื่อนไหว ซึ่งเมื่อเราเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการลุก นั่ง ยืน หรือเดิน ข้อต่อจะทำงานสอดประสานกันอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อกระดูกอ่อนผุพังหรือบางลง กระดูกข้อต่อก็จะเสียดสีกันจนส่งผลให้เกิดการอักเสบ มีความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อต่อจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก

 

ร่างกายเสื่อมถอยตามอายุ ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรค

แม้โรคข้อเข่าเสื่อมจะเกิดจากการเสื่อมตามอายุเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโดยส่วนมากมักพบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งนอกจากอายุแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน การเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การได้รับบาดเจ็บของข้อ รวมถึงการออกกำลังกายประเภทที่มีการกระแทกรุนแรงซ้ำๆ ที่ข้อต่อ


แนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อมมีอะไรบ้าง?

1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา

เป็นการให้ความรู้เรื่องข้อเข่าเสื่อม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงความเจ็บปวด การออกกำลังและการบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ เช่น การใช้ไม้เท้า การเสริมรองเท้าเป็นลิ่มด้านนอก การใช้สนับเข่าเพื่อช่วยเสริมความมั่นคงของข้อเข่า รวมทั้งช่วยลดอาการปวดข้อเข่า การลดน้ำหนักเพื่อลดความเจ็บปวดและเพิ่มการใช้งานของเข่าในผู้สูงอายุ การใช้วิธีการอื่นๆ ได้แก่ เลเซอร์ การฝังเข็ม การใช้ความร้อน การใช้สนามแม่เหล็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้พิจารณาการรักษา

 

2. การรักษาโดยยา

แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยารับประทานตามอาการของโรค รวมถึงการใช้ยาทาเฉพาะประเภทที่เหมาะสมตามอาการของแต่ละราย การใช้ยา ปัจจุบันมียาหลายกลุ่มที่ใช้รักษาโรคข้อเสื่อม ได้แก่
ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการควบคุมอาการ
ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ
ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต จะช่วยชะลอโรค ซ่อมแซมผิวข้อ ลดการอักเสบและอาการปวด เป็นยาทางเลือกในข้อเสื่อมระยะเริ่มต้น
ยาทาภายนอก ช่วยลดอาการโดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากยารับประทาน
การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ เป็นทางเลือกในการช่วยลดอาการปวด และช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อดีขึ้น
การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ เป็นทางเลือกในข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น

 

3. การรักษาแบบผ่าตัด มีหลายวิธี ได้แก่

  • การล้างข้อโดยใช้วิธีการส่องกล้อง ช่วยล้างน้ำไขข้อที่อักเสบ เศษกระดูก กระดูกอ่อนและเยื่อบุข้อที่หลุดร่อนออก แต่งผิวข้อให้เรียบและกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อใหม่
  • การผ่าตัดจัดแนวกระดูกขา ใช้ในกรณีที่เป็นข้อเสื่อมซีกเดียวร่วมกับมีขาโก่งผิดรูปเล็กน้อย เป็นการผ่าตัดปรับแนวของข้อและขาใหม่ ช่วยลดอาการปวดและเพิ่มอายุการใช้งานของข้อ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อที่สึกออกไป และทดแทนด้วยผิวข้อเทียม เหมาะกับผู้ป่วยที่มีการสึกของผิวข้ออย่างรุนแรง มีข้อผิดรูปหรือมีข้อยึดติดมาก

 

4. การรักษาทางเลือก

การรักษาด้วยสมุนไพร แพทย์แผนโบราณ การนวดประคบหรือการกินคอลลาเจนไทพ์ II, กลูโคซามีน ซึ่งในปัจจุบันมีผลการวิจัยออกมารองรับผลการบำรุงและฟื้นฟูว่าช่วยชะลอและลดปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้

 

“โรคข้อเข่าเสื่อม”  เป็นโรคที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ดังนั้นควรดูแลรักษา “สุขภาพข้อเข่า” อย่างสม่ำเสมอและใช้งานอย่างเหมาะสมเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อช่วยยืดอายุของข้อเข่าของเราให้ใช้งานได้ปกติไปอีกยาวนาน




สอบถามรายละเอียด

ศูนย์กระดูกและข้อ อาคาร 1 ชั้น 1

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร. 02-514-4141 ต่อ 1102 1105