ปวดหลัง ปล่อยไว้อาจปวดเรื้อรัง
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
21-เม.ย.-2566

“ออฟฟิศซินโดรม” เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนทำงาน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนั่งทำงานตลอดเวลาโดยไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือเปลี่ยนอิริยาบถ จึงส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดคอ ปวดท้ายทอย ปวดบ่า ปวดไหล่ ไปจนถึง ปวดหลัง หรือทำให้ปวดหัวก็เป็นได้ โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อทั้งร่างกายและจิตใจ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจจะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเป็นโรคต่างๆ ได้ด้วย

สาเหตุท็อปฮิตของโรคปวดหลังในวัยทำงาน
อาการปวดหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบส่วนใหญ่ในพนักงานออฟฟิศ ก็คือการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งการนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้น มักจะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า เพราะกล้ามเนื้อบริเวณหลังจะมีการเกร็งตัวตลอดเวลาและยาวนาน และหากทำแบบนี้เป็นประจำ จากการเมื่อยล้าก็จะลุกลามเป็นการปวดหลัง เพราะกล้ามเนื้อมีการเกร็งตัวจนขาดเลือดไปเลี้ยงบ่อยๆ รวมถึงมีการสะสมของกรดแลคติก ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นปัญหาต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะจะเกิดความเจ็บปวด และกล้ามเนื้อก็จะเสื่อมประสิทธิภาพลงเรื่อยๆ อีกด้วย

วิธีคลายปวดหลัง...ที่ทำตามได้ง่ายๆ
1. เปลี่ยนท่าทาง กฎเหล็กของการทำงาน คือ ไม่ควรทำงานด้วยท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ต้องเปลี่ยนท่าอยู่เรื่อยๆ หรือปล่อยตัวเอนหลังให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายบ้าง
2. ออกกำลังกายด้วยท่าง่ายๆ ถ้าเมื่อย เหนื่อยล้า ลองลุกมายกแขนยกขา เหมือนท่ากายบริหารสมัยเด็กๆ เช่น ท่าหมุนคอ ท่าก้มแตะ หรือท่าเขย่งปลายเท้า ก็สามารถช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้อีกทางหนึ่ง
3. คลายปวดด้วยการประคบร้อน หากอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้น สามารถใช้การประคบร้อนช่วยได้ โดยหาซื้อ Cold/Hot pack ติดไว้ที่ทำงาน เมื่อเริ่มมีอาการปวดหลังก็นำแผ่นเจลแช่น้ำร้อนแล้วนำมาประคบบริเวณที่ปวด สัก 10-20 นาที
4. หมอนสารพัดประโยชน์ หาหมอนอิงสักใบติดไว้ในที่ทำงาน เพราะสามารถใช้เป็นตัวช่วยได้มากในยามที่ปวดหลัง โดยนำหมอนมารองบริเวณที่มีอาการปวด เช่น ใช้หนุนไว้แถวๆ บั้นเอวก็จะช่วยได้ หรือหากเก้าอี้เตี้ยเกินไป ทำให้ต้องโน้มตัวไปทำงาน ก็ให้เปลี่ยนหมอนมารองนั่งเพื่อเพิ่มความสูงขึ้นมาให้พอดี


อุปกรณ์ในที่ทำงาน คืออีกปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
นอกจากวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อป้องกันอาการปวดหลังแล้ว ต้องลองพิจารณาถึงอุปกรณ์ต่างๆ ในที่ทำงานด้วย เช่น ขนาดของโต๊ะและเก้าอี้เหมาะกับสรีระของเราหรือไม่ รวมถึงความสูงของเก้าอี้และโต๊ะควรอยู่ในระดับที่แขนวางเป็นมุมฉากกับลำตัวพอดี ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา ส่วนแป้นคีย์บอร์ดก็ควรอยู่ในระดับข้อศอก จะได้ไม่ต้องยกแขนขึ้นมาในขณะพิมพ์ นอกจากนี้ระหว่างทำงานก็ควรที่จะต้องลุกไปเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1 ชม. เป็นอย่างน้อย


เพราะชีวิตการทำงานกินเวลาไปกว่าครึ่งของชีวิตเรา จึงควรที่จะต้องใส่ใจและดูแลสุขภาพของตัวเองขณะทำงานไม่น้อยไปกว่าการทุ่มเทให้กับการทำงาน เพื่ออนาคตที่สดใสและสุขภาพที่แข็งแรงยืนยาว และไม่เกิดปัญหา ปวดหลังออฟฟิศซินโดรม


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ อาคาร 1 ชั้น 1

โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4

โทร. 02-514-4141 ต่อ 1102-1105

Line id : @Paolochokchai4