ทำอย่างไร….เมื่อพบ “คนตกจากที่สูง” ต่อหน้าต่อตา
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
08-พ.ย.-2561
title อุบัติเหตุตกจากที่สูง เป็นเรื่องไม่คาดคิดที่เราอาจพบเจอได้เสมอ ดังนั้นการมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลคนตกจากที่สูงแบบถูกต้องจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะนั่นคืออีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ระดับอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยไม่ทวีความรุนแรงไปมากกว่าเดิมได้

การประเมินเบื้องต้น…เพื่อวิเคราะห์ความรุนแรง

- ผู้บาดเจ็บยังคงรู้สึกตัว หรือสามารถพูดคุยโต้ตอบได้หรือไม่ หากยังพูดคุยรู้เรื่อง ควรสอบถามรายละเอียดที่จำเป็น เช่น อายุ โรคประจำตัว หรือสาเหตุที่ตกลงมา
- ตรวจดูการหายใจ เช่น หน้าอกหรือท้องกระเพื่อมหรือไม่ หรือมีเสียงหายใจหรือไม่
- ตำแหน่งของการตกว่าสูงมากแค่ไหน เช่น ตกจากตึกกี่ชั้น, ตกจากต้นไม้ หรือตกจากบันไดกี่ขั้น
- พื้นผิวที่ผู้บาดเจ็บตกลงมากระทบ เช่น พื้นคอนกรีต ดิน หรือน้ำ เพื่อประเมินความแข็งของพื้นผิว
- ส่วนของร่างกายที่ตกกระทบผิว เช่น ใบหน้า แขน ลำตัว หรือศีรษะ เพราะล้วนมีผลต่อระดับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ

สังเกตซักนิด! ว่า..กระดูกหักหรือไม่

- อาการปวด หากเกิดกระดูกหักผู้บาดเจ็บจะมีอาการปวดมากในบริเวณที่เป็นกระดูก แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการปวด โดยอาจเป็นผลมาจากการบาดเจ็บของเส้นประสาท ไขสันหลัง หรือสมอง
- อาการบวม เป็นผลมาจากการมีเลือดออกภายใน…บริเวณที่เกิดกระดูกหัก
- อวัยวะผิดรูป โดยอาจเกิดการกระดูกหัก ข้อต่อมีการหลุดหรือเคลื่อน และผู้บาดเจ็บจะไม่สามารถขยับเขยื้อนอวัยวะส่วนนั้นๆ ได้

ข้อควรระวัง ก่อนลงมือช่วยเหลือ

- ห้ามเคลื่อนย้ายตัวผู้บาดเจ็บ เพราะหากผู้บาดเจ็บมีการหักของกระดูกอาจส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้น ควรรอให้เจ้าหน้าที่มาทำการเคลื่อนย้าย
- หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย อาจเนื่องด้วยสถานการณ์ไม่ปลอดภัย ให้ผู้บาดเจ็บนอนหงายบนแผ่นกระดาน และเมื่อต้องพลิกตัวผู้บาดเจ็บควรให้ตัวและศีรษะของผู้บาดเจ็บตรงเป็นแนวเดียวกัน
- หากผู้บาดเจ็บมีเลือดออก ควรทำการห้ามเลือดโดยเอามือกดตรงที่เลือดออก ประมาณ 5-10 นาที แล้วหยุด ไม่ควรใช้วิธีขันชะเนาะ ยกเว้นกรณีผู้บาดเจ็บเกิดแขนหรือขาขาดไปแล้ว
- อย่าเพิ่งให้ผู้บาดเจ็บดื่มน้ำหรือทานอาหารใด ๆ

สอบถามรายละเอียด

ศูนย์กระดูกและข้อ อาคาร 2 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105