อยากมีมดลูกแข็งแรง ต้องดูแลวิธีนี้
โรงพยาบาลเปาโล
30-ก.ค.-2562
จากสถิติพบว่าในแต่ละปีผู้หญิงไทยต้องผ่าตัดมดลูกออกกว่า 70,000 คน ทั้งที่จริงๆ แล้ว แค่ปรับพฤติกรรมก็ดูแลมดลูกให้แข็งแรงได้

ออกกำลังกายบริหารมดลูก

การออกกำลังกายไม่เพียงช่วยให้สุขภาพดี แต่ยังทำให้มดลูกของสาวๆ แข็งแรงได้อีกด้วย กิจกรรมที่แนะนำ ก็เช่น ว่ายน้ำ จ๊อกกิ้ง แอโรบิก หรือโยคะ โดยทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน ครั้งละประมาณ 30 นาที ร่วมกับบริหารอุ้งเชิงกรานให้แข็งแรงด้วยการขมิบเป็นประจำ โดยขมิบเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานค้างไว้ 5 วินาที แล้วปล่อย 5 วินาที ทำสลับกันประมาณ 4-5 รอบ หลังจากนั้นอาจเพิ่มเป็นขมิบ 10 วินาที และปล่อยอีก 10 วินาทีก็ได้ ทำได้มากครั้งเท่าที่นึกได้หรือสะดวก

“นวด” เพิ่มความแข็งแรงให้มดลูก

การนวดมดลูกถือว่าเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้มดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าการนวดจะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงมดลูก ท่อรังไข่ และรังไข่ได้ดี จึงไม่เพียงแค่ทำให้มดลูกแข็งแรง แต่ยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย ซึ่งวิธีการนวดมดลูกนั้น ให้เริ่มจากการทาน้ำมันบริเวณหน้าท้อง นอนหงาย ชันเข่าทั้งสองข้างแล้วใช้หมอนหนุนสะโพกให้ยกขึ้น ประสานมือทั้งสองเข้าด้วยกัน จากนั้นกดลงบริเวณท้องน้อยตรงที่ชิดกับกระดูกหัวหน่าว แล้วค่อยๆ โกยขึ้นมา กางนิ้วมือทั้งสองข้างโดยให้นิ้วโป้งทั้งสองข้างชนกัน ใช้นิ้วโป้งออกแรงกดที่ท้องน้อย ในขณะที่นิ้วอื่นๆ กดลงบนกระดูกอุ้งเชิงกราน ค่อยๆ ผ่อนแรงกด... แล้วจึงเริ่มออกแรงกดลงไปใหม่

ปรับการกิน...ช่วยบำรุงมดลูก

การดูแลสุขภาพไม่ว่าร่างกายโดยรวมหรือมดลูก นอกจากการออกกำลังกายแล้ว การเลือกกินอาหารที่ดีก็ถือว่าสำคัญ โดยอาหารที่ช่วยบำรุงมดลูกให้แข็งแรง ก็เช่น ผักผลไม้ หรืออาหารที่มีไฟเบอร์ ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาน้ำลึก หรือเมล็ดถั่วต่างๆ ส่วนอาหารที่ควรเลี่ยง ก็เช่น ของหมักของดอง ของทอด ขนมหวาน อาหารหวานจัดหรือเค็มจัด และอาหารไขมันสูง รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่

ลด ละ พฤติกรรมสำส่อนทางเพศ

เพราะการสำส่อนทางเพศอาจนำไปสู่ “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” เช่น การติดเชื้อ HPV, เริม หรือ HIV (โรคเอดส์) ซึ่งภาวะติดเชื้อเหล่านี้เพิ่มโอกาสการเกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบรุนแรงได้ หากไม่มั่นใจในคู่ของตน ควรสวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

ไม่เครียด...ก็ไม่ทำร้ายมดลูก

ความเครียดคือปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ต่อมใต้สมอง ซึ่งมีหน้าที่หลั่งฮอร์โมนสำหรับควบคุมการทำงานของรังไข่หยุดชะงักลง ส่งผลกระทบต่อการตกไข่ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาคลาดเคลื่อน มามากหรือมาน้อยผิดปกติได้ ดูแลมดลูกให้แข็งแรงด้วยการปรับพฤติกรรมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพราะการตรวจจะไม่ใช่เพียงเช็คสุขภาพของมดลูก แต่จะเป็นการพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นในอวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่อาจจะทำร้ายมดลูกในอนาคตได้อีกด้วย ปรึกษาแพทย์ออนไลน์