การตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง (TCD)
โรงพยาบาลเปาโล
28-เม.ย.-2566

การตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง (TCD) คืออะไร?

TCD (Transcranial Doppler Ultrasound) คือ การตรวจการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงที่อยู่บริเวณใต้ฐานสมองภายในกะโหลกศีรษะด้วยคลื่นความถี่สูง เพื่อประเมินคุณภาพการไหลเวียนของเลือด วัดค่าความเร็วในการไหล ดูทิศทางและรูปแบบการไหลของเลือด มักใช้ตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง รวมถึงการเฝ้าระวังหรือติดตามภาวะลิ่มเลือดขนาดเล็กหลุดมายังหลอดเลือดสมองในผู้ที่มีความเสี่ยง หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบจากสาเหตุต่างๆ โดยการตรวจ TCD จะทำให้ทราบถึงตำแหน่งที่มีการตีบตันของหลอดเลือดสมองได้อย่างรวดเร็ว


ใครบ้างที่ควรตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง (TCD)

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ TCD มีดังนี้

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบ

  • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง หรือเป็นโรคอ้วน 

  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะมักเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้ทั่วร่างกาย 

  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

  • ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย

  • ผู้ที่มีเลือดออกที่ผิวสมอง (Subarachnoid Hemorrhage) เพื่อติดตามภาวะหดตัวของหลอดเลือดสมอง

  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันระยะเฉียบพลัน และได้รับยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolysis)

  • ผู้ที่มีภาวะสมองตายจากการติดเชื้อในสมอง


ขั้นตอนการตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง (TCD) 

ผู้เข้ารับการตรวจ TCD จะอยู่ในท่านอนหงายบนเตียง หนุนหมอน แพทย์จะทาเจลบางๆ ที่บริเวณขมับ เปลือกตา และท้ายทอยของผู้เข้ารับการตรวจ จากนั้นจะใช้หัวตรวจกดเบาๆ ในบริเวณที่ทำการตรวจ โดยหัวตรวจจะส่งคลื่นเสียงความถี่ต่ำ 2 เมกะเฮิรตซ์ ผ่านเข้าไปยังกะโหลกศีรษะไปจนถึงหลอดเลือดแดงในสมอง โดยคลื่นเสียงจะกระทบกับเม็ดเลือดแดงและสะท้อนกลับเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้วประมวลผลเป็นภาพและกราฟ เป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่เจ็บ ใช้เวลาตรวจประมาณ 30-60 นาที หลังตรวจเสร็จผู้เข้ารับการตรวจสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง (TCD)

  • สามารถเข้ารับการตรวจได้โดยไม่ต้องงดน้ำหรืออาหาร และไม่ต้องงดยาใดๆ 


การแปรผลและการประเมินผลตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง (TCD)

แพทย์จะประเมินผลการตรวจจากภาพและกราฟที่ได้ โดยสามารถบอกได้ถึงความเสี่ยงและการเกิดโรคต่างๆ เช่น

  • การตีบตันของหลอดเลือดสมอง

  • คุณภาพและรูปแบบการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดที่เข้ามาทดแทนบริเวณที่ขาดเลือดหลังจากมีการตีบของหลอดเลือด

  • ภาวะหลอดเลือดหดตัวในผู้ป่วยที่มีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง

  • ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง

  • ภาวะลิ่มเลือดขนาดเล็กหลุดจากหัวใจมายังหลอดเลือดสมอง หรือคราบไขมันที่หลุดจากหลอดเลือดแดงที่คอ

  • ความผิดปกติของผนังหัวใจแต่กำเนิด หรือช่องรั่วที่ผนังหัวใจ

  • การขยายตัวหรือหดตัวของหลอดเลือดแดงในสมอง เมื่อมีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดเปลี่ยนไป