เช็คความเสี่ยงโรคหัวใจ ด้วยการตรวจคลื่นความถี่ ECHO
โรงพยาบาลเปาโล
07-เม.ย.-2563
รู้ไหมว่า? “ในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 50,000 คน หรือ เฉลี่ยเท่ากับ 6 คนเสียในทุกๆ 1 ชั่วโมง” เลยทีเดียว เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากโรคนี้มักไม่แสดงอาการให้เห็น บางคนมารู้ตัวก็สายเกินไปแล้ว… หากเราเป็นผู้หนึ่งที่มีความเสี่ยงก็ควรตรวจเช็คสุขภาพหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ด้วยการตรวจคลื่นความถี่ หรือ ECHO เพื่อจะได้ป้องกันหรือรักษาก่อนลุกลาม

ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ECHO) คืออะไร?

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram, Echocardiography) หรือเอคโค (Echo) คือ การตรวจเพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้า-ออกจากหัวใจ โดยเป็นการตรวจด้วยการใช้การสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ถูกปล่อยออกมาจากหัวตรวจ ส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจ เมื่อคลื่นเสียงผ่านอวัยวะต่างๆ ก็จะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับที่แตกต่างกันระหว่างน้ำกับเนื้อเยื่อ คอมพิวเตอร์จึงเอาสัญญาณเหล่านี้มาแปลเป็นภาพให้เห็นบนจอ ซึ่งจะแสดงถึง รูปร่าง ขนาด การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจ การตรวจนี้ปลอดภัยและไม่เจ็บ

ประโยชน์ของการตรวจ ECHO คืออะไร?

การตรวจเอคโคจะช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจโดยตรวจร่วมกับการตรวจวิธีอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ การสวนหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้เพื่อการวินิจฉัยโรคทางหัวใจที่แน่นอน โดยมักเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงาน/การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ และตำแหน่งหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้าและออกจากหัวใจ

อาการแบบไหนที่ควรตรวจ Echo

  • ผู้ที่มีอาการบวมและหอบเหนื่อย อาการบวมเกิดจากโรคหัวใจ ตับ ไต โรคหัวใจที่ทำให้เกิดอาการบวม ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ และโรคเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งการตรวจโดยกายใช้ Echo จะช่วยบอกว่าอาการบวมนี้เกิดจากโรคหัวใจหรือไม่
  • ผู้ที่มีอาการของโรคหัวใจวาย (น้ำท่วมปอด) หัวใจวายเป็นภาวะที่บอกว่าหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายอย่างเพียงพอ

เตรียมตัวอย่างไร? ถ้าต้องรับการตรวจ

วิธีนี้ถือว่ามีความปลอดภัยสูง ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร แต่หากมียาที่รับประทานเป็นประจำ ต้องแจ้งแพทย์หรือพยาบาลให้ทราบล่วงหน้า เนื่องจากอาจมีผลต่อผลการตรวจและการทำงานของหัวใจ

ตรวจเร็ว… ใช้เวลาไม่นาน

สำหรับการตรวจวิธีนี้เป็นการตรวจเฉพาะทางที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์โรคหัวใจโดยเฉพาะ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 30-45 นาที หรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยการตรวจจะทำจากทรวงอกด้านหน้า ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในการตรวจจะให้ผู้ตรวจนอนบนเตียงราบ ตะแคงไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย จากนั้นจะติดแผ่นคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 3 จุด ขณะตรวจเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ง่ายและไม่เจ็บตัว สามารถตรวจซ้ำได้ตลอดเวลา

หลังการตรวจสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

หลังการตรวจเอคโคไม่จำเป็นต้องมีการดูแลตนเองเป็นพิเศษแต่อย่างใด ผู้ป่วยสามารถทำงานใช้ชีวิตได้ตามปกติ เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนการตรวจที่รวดเร็วและไม่ซับซ้อน ดังนั้นหากมีโอกาสหรือเป็นผู้หนึ่งที่มีปัจจัยเสี่ยงก็ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง