เคยเป็นไหม? เจ็บหน้าอกจี๊ดๆ เจ็บแปล๊บๆ รู้สึกแน่นหน้าอกบ่อยๆ กลัวจะเป็นโรคหัวใจ อย่าเพิ่งกังวลไป! มาเช็กให้แน่ใจกันดีกว่าว่าอาการแบบไหนที่เป็นอาการของ “โรคหัวใจ” กันแน่!!
เจ็บหน้าอกซ้ายบ่อย อาจไม่ใช่โรคหัวใจเสมอไป
ต้องบอกก่อนเลยว่าบริเวณหน้าอกข้างซ้ายนอกจากจะเป็นตำแหน่งของหัวใจแล้ว ยังมีกล้ามเนื้อหัวใจ กระดูกซี่โครงอ่อน และเส้นประสาทอยู่จำนวนไม่น้อย และถ้าหากเราออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป หรือทรงตัวผิดท่า อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกจี๊ดๆ ขึ้นมาได้เหมือนกัน
อาการของโรคหัวใจแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์ทันที
- เหนื่อย แน่นและเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากที่สุด
- นั่งพักแล้วอาการที่กล่าวมายังไม่ดีขึ้น และเป็นมากขึ้น
- กรณีในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจใช้ยาอมใต้ลิ้นแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น
- มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม
นอกจากเจ็บหน้าอก อาการใดอีกที่เป็นสัญญาณของโรคหัวใจ?
อาการใจสั่น ใจสั่นในความหมายทางการแพทย์หมายถึง การที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือ เต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นๆ หยุดๆ อาการดังกล่าวอาจพบได้ในคนปกติ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อหัวใจ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด แพทย์จะซักประวัติอย่างละเอียดถึงลักษณะของอาการใจสั่น เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึกใจสั่นโดยที่หัวใจเต้นปกติ การตรวจวินิจฉัยกลุ่มอาการใจสั่นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการชั่วขณะ เมื่อมาพบแพทย์อาการดังกล่าวก็อาจหายไปแล้ว แพทย์จึงไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ดังนั้นท่านควรศึกษาวิธีจับชีพจรตัวเอง เมื่อเกิดอาการว่าหัวใจเต้นกี่ครั้งในเวลา 1 นาที และสม่ำเสมอหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น
อาการเหนื่อยหอบง่ายผิดปกติ คำว่าเหนื่อย หอบ ในความหมายของแพทย์หมายถึงอัตราการหายใจมากกว่าปกติ แต่ในความหมายของผู้ป่วยอาจรวมไปถึง อาการเหนื่อย เพลีย หมดแรง เหนื่อยใจ อาการเหนื่อยแบบหมดแรง มือเท้าเย็นชา พูดก็เหนื่อย (โดยอัตราการหายใจปกติ) เหล่านี้มักจะไม่ใช่อาการเหนื่อยจากโรคหัวใจ อาการเหนื่อยหอบง่ายผิดปกติ เช่น เวลาออกแรง อย่างตอนเดิน วิ่ง ทำงาน มีสาเหตุมากมาย เช่น โลหิตจาง (ซีด) โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคปอด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) อาการเหนื่อยง่ายจากโรคหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นจะเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว เป็นเวลาออกแรง แต่ในรายที่เป็นรุนแรงจะเหนื่อยในขณะพัก บางรายจะเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้ (นอนแล้วจะเหนื่อย ไอ) ต้องนอนศีรษะสูงหรือนั่งหลับ
เจ็บหน้าอก...อาจไม่ใช่ “โรคหัวใจ” เสมอไป
อาการเจ็บหน้าอกแบบแน่นๆ จุกเหมือนมีอะไรมาทับบริเวณหน้าอกด้านซ้ายค่อนมาตรงกลาง อาจจะมีอาการร้าวไปที่แขน ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการบ่งชี้ที่มักจะเจอ… แต่ก็ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์! เพราะบางคนมีอาการเจ็บแบบจุกเสียดเหมือนอาหารไม่ย่อย เจ็บลิ้นปี่ อาจบอกฟันธงไม่ได้ว่าเป็นโรคหัวใจ อาจต้องพิจารณาอาการอื่นร่วม เช่น อาการใจสั่น หน้ามืด เวียนหัว เป็นลม รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือเบาหวาน เป็นต้น ดังนั้นหากไม่แน่ใจก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างตรงจุด เพราะถึงอย่างไรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ก็ควรตรวจและรักษาหากเกิดอาการดังกล่าว
วิธีตรวจให้รู้ว่าคุณเป็นโรคหัวใจ หรือไม่?
- แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามประวัติอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่พึงสงสัย รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของผู้ป่วย
- แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด ฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต
- ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการวิ่งสายพาน จะเป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)
ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือไม่ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะ “หัวใจ” เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเกิดความผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้