การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) คืออะไร?
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST (Exercise Stress Test) คือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะทำงานหนัก โดยการกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นเหมือนขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนลู่วิ่ง (Treadmill) หรือขี่จักรยานอยู่กับที่ (cycling) ซึ่งจะได้ข้อมูลการตรวจเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอีกหลายโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ
ใครบ้างที่ควรตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)?
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) คือผู้ที่มีพฤติกรรมและมีความเสี่ยง ดังนี้
มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ
มีความเสี่ยงหรือเป็นโรคหลอดเลือดในอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่ใช่หัวใจอยู่ก่อน
มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง
เคยได้รับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ
มักรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มเป็นประจำ
สูบบุหรี่จัด หรือได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ
พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท และรู้สึกอ่อนเพลียเป็นประจำ
ทั้งนี้ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ ผู้ป่วยโรคหัวใจโต รวมถึงผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้
ขั้นตอนการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)
เจ้าหน้าที่จะติดอุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือแผ่นอิเล็กโทรด (Electrode) ที่บริเวณหน้าอก 6 จุด ที่แขนและขาอีก 4 จุด รวมเป็น 10 จุด และพันแผ่นผ้าวัดความดันโลหิตที่แขนอีก 1 จุด จากนั้นผู้เข้ารับการตรวจจะเริ่มเดินช้าๆ บนเครื่องเดินสายพาน (Treadmill) ซึ่งแพทย์ที่ทำการตรวจจะค่อยๆ เพิ่มความเร็วและความชันของสายพานไปเรื่อยๆ โดยจะใช้เวลาในการเดินบนลู่วิ่งเฉลี่ยประมาณ 6-12 นาที จากนั้นจะเข้าสู่ระยะพัก (Recovery Stage) อีกประมาณ 5-10 นาที รวมเวลาการตรวจทั้งหมดราว 20-30 นาที ในระหว่างนั้นจะมีการวัดความดันโลหิตเป็นระยะๆ ร่วมด้วย
ขณะทดสอบ หากผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะหัวใจขาดเลือดจะส่งผลให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีการเปลี่ยนแปลง บางรายอาจเกิดอาการเจ็บหรือจุกแน่นหน้าอก ทั้งนี้การตรวจจะอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์เฉพาะทาง จึงมั่นใจได้ในความปลอดภัย กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่สามารถเดินบนลูวิ่งได้ เช่น เป็นผู้สูงอายุ มักใช้การขี่จักรยานอยู่กับที่ (cycling) แทน
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)
งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนตรวจ โดยอาหารมื้อก่อนตรวจควรหลีกเลี่ยงชนิดไขมันสูง
งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มาคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนตรวจ
งดสูบบุหรี่ 3-4 ชั่วโมงก่อนตรวจ
สวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่เหมาะกับการออกกำลังกาย โดยสามารถเตรียมมาเองหรือใช้ของทางโรงพยาบาลที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ก็ได้
ผู้ที่รับประทานยารักษาโรคประจำตัวต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เพื่อแพทย์จะพิจารณาให้งดยาบางอย่าง เช่น ยากลุ่มที่ทำให้หัวใจเต้นช้า (Beta-blockers) ที่ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติบางชนิด โรคต้อหิน โรควิตกกังวล ไมเกรน และไฮเปอร์ไทรอยด์ เป็นต้น
ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดให้นำยาพ่นติดตัวมาด้วย
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรแจ้งแพทย์ที่รักษาโรคเบาหวาน เพื่อเตรียมยาให้เหมาะสมสำหรับวันที่เข้ารับการตรวจ
การแปรผลและการประเมินผลตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)
แพทย์จะประเมินผลการตรวจจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยสามารถวินิจฉัยได้ถึงความเสี่ยงและการเกิดโรคต่างๆ เช่น
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยสามารถประเมินความเสี่ยงได้ดีในผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคระดับปานกลางขึ้นไป
ประเมินโรคในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เดิม เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติม หรือต้องทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
ประเมินประสิทธิภาพและผลการรักษาด้วยยา ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เดิม
ประเมินและวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด
ประเมินประสิทธิภาพและความสามารถสูงสุดของหัวใจในการออกกำลังกาย เพื่อวางแผนหรือกำหนดความหนักเบาและประเภทของการออกกำลังกายให้เหมาะสม
ประเมินระดับความสามารถสูงสุดในการออกกำลังกายในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการรักษาแล้ว เพื่อติดตามผลการรักษา และเพื่อป้องกันการใช้แรงที่มากเกินไปของผู้ป่วย