ไส้ติ่งอักเสบ รักษาด้วยการผ่าตัด
โรงพยาบาลเปาโล
22-มิ.ย.-2564

ไส้ติ่งมีลักษณะเป็นท่อบางๆ อยู่บริเวณส่วนล่างในช่องท้องในตำแหน่งที่ลำไส้เล็กบรรจบกับลำไส้ใหญ่ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าไส้ติ่งเป็นอวัยวะส่วนเกินที่ไม่มีประโยชน์ แต่ในความจริงแล้วไส้ติ่งอาจมีบทบาทต่อสุขภาพ คือเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียชนิดดีซึ่งมีส่วนช่วยในระบบย่อยอาหารและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

แต่ไส้ติ่งก็มักทำให้คนทั่วไปรู้สึกไม่ดีและคิดว่าไร้ประโยชน์ เพราะเมื่อมันเกิดการอักเสบก็ทำให้ปวดท้องจนต้องผ่าตัดทิ้ง และถ้ารักษาไม่ทันก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว จากสถิติพบว่าไส้ติ่งอักเสบมักเกิดขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 15-45 ปี และผู้ชายมีความเสี่ยงเป็นไส้ติ่งอักเสบสูงกว่าผู้หญิง คือราว 8.6% ในขณะที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงประมาณ 6.7%

เมื่อไส้ติ่งอักเสบจะเป็นอย่างไร?

ไส้ติ่งอักเสบ มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ไหลลงมาจากกระเพาะอาหารสู่ไส้ติ่ง หรือเกิดจากเศษอุจจาระตกค้างในลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาการของโรคไส้ติ่งอักเสบจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่โดยทั่วไปมักมีอาการดังนี้

  • ปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณรอบสะดือลงมาถึงท้องด้านล่างข้างขวา
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
  • มีไข้
  • ท้องเสีย ท้องอืด

ไส้ติ่งอักเสบ...ต้องรีบรักษา

เมื่อคนไข้เข้ามาพบแพทย์ จะเริ่มจากการซักประวัติอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกาย ตรวจเลือดและปัสสาวะ หากสงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ก็สามารถตรวจเพิ่มเติมด้วยการวินิจฉัยทางรังสี ที่เรียกว่า CT Appendix เพื่อผลที่แม่นยำยิ่งขึ้น

และเมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบจะต้องรีบรักษา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนไส้ติ่งแตก หนองและเชื้อโรคที่อยู่ในไส้ติ่งก็จะไหลเข้าสู่ช่องท้อง ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้เสียชีวิตได้

การผ่าตัดรักษาไส้ติ่งอักเสบ

โรคไส้ติ่งอักเสบไม่สามารถรักษาหายได้ด้วยการให้ยา การรักษาที่เหมาะสมที่สุดคือ การผ่าตัดไส้ติ่งให้เร็วที่สุด โดยแพทย์จะประเมินจากอาการและผลตรวจ เพราะการผ่าตัดจะช่วยหยุดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไส้ติ่งแตกซึ่งจะทำให้ยากต่อการรักษาขึ้นไปอีก ปัจจุบันการผ่าตัดไส้ติ่งมี 2 วิธี ได้แก่

การผ่าตัดแบบธรรมดา (Open Surgery)

แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดหน้าท้องบริเวณท้องน้อยด้านขวา ซึ่งจะทำให้มีแผลขนาด 3-10 เซนติเมตร ในกรณีไส้ติ่งแตกอาจต้องเปิดแผลขนาดยาวกลางท้อง เพื่อทำการล้างภายในช่องท้องด้วย ปกติแล้วจะใช้เวลาผ่าตัดไม่เกิน 1 ชั่วโมง และนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 2- 3 วัน

การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Appendectomy)

แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านรูที่เจาะไว้ โดยใช้กล้องช่วยนำทาง ซึ่งจะทำให้เห็นอวัยวะภายในชัดเจน ผ่าตัดได้ตรงจุด แต่หากแพทย์พบว่าไส้ติ่งแตกหรือมีการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจมีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องแทน

การจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้องหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ความเสี่ยง โดยประเมินจากสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง

  • ขนาดของแผลจะเล็กเพียง 1-2 ซม. ในขณะที่การผ่าตัดแบบเปิดจะมีแผลยาวกว่า
  • การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในจะน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
  • การเกิดพังผืดในช่องท้องจะน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
  • เจ็บน้อย ปวยน้อย ลดการเสียเลือด ฟื้นตัวไวกว่า
  • ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน
  • พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ในบางรายอาจกลับบ้านได้เลยโดยไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล

ดูแลอย่างไรหลังผ่าตัดไส้ติ่ง

  • หากรู้สึกเจ็บปวดหรือต้องการความช่วยเหลือ ควรรีบแจ้งพยาบาล แพทย์ หรือผู้ดูแลทันที
  • รักษาความสะอาดบริเวณแผลผ่าตัดไม่ให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ
  • กินยาให้ตรงเวลา และครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด
  • พบแพทย์ตามนัดหมาย แต่หากมีความผิดปกติหรือมีอาการอื่นใดที่รุนแรง ควรเข้ามาพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด