ส่องกล้องทางเดินอาหาร และลำไส้ใหญ่ ใครว่าไม่สำคัญ
โรงพยาบาลเปาโล
08-มี.ค.-2564

แผลภายนอกยังพอมองเห็นได้ แต่แผลภายในกว่าจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีอาการ ซึ่งบางครั้งก็สายไปเสียแล้ว โดยเฉพาะโรคในระบบทางเดินอาหาร ที่ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วย “อาการปวดท้อง” ทำให้หลายครั้งผู้ป่วยสับสนและแยกโรคไม่ออก “การส่องกล้องทางเดินอาหาร” จึงเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่จะช่วยให้แพทย์ค้นหาสาเหตุของอาการได้อย่างเจาะลึก และรักษาได้อย่างตรงจุด

โรคทางเดินอาหาร มีอะไรบ้างนะ?

โรคทางเดินอาหาร เป็นโรคที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น โรคกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้อักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ และโรคร้ายที่ไม่ว่าใครๆ ก็คงไม่อยากเจอ อย่างมะเร็งระบบทางเดินอาหาร

อาการเตือน โรคทางเดินอาหาร

  • ปวดท้อง ท้องอืด มีอาการเกร็งในท้อง เรื้อรัง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ท้องเสียหรือท้องผูก หรือทั้งสองอย่างสลับกัน
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • ถ่ายเป็นเลือด
  • อาจคลำพบก้อนบริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย

รู้ให้ทัน ด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร

การส่องกล้องทางเดินอาหาร แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ

  1. การส่องกล้องเพื่อตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และสำไส้เล็กส่วนต้น (Gastroscopy, EGD)
  2. เป็นเทคโนโลยีการใช้กล้องส่องเข้าไปทางปาก ผ่านหลอดอาหารลงไปภายในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งจะทำให้แพทย์เห็นภายในอวัยวะที่ตรวจได้อย่างชัดเจน หากตรวจพบติ่งเนื้อ หรือเนื้องอก แพทย์สามารถทำการรักษาได้ทันที หรือหากสงสัยว่าอาจเป็นเนื้อร้าย ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ในคราวเดียวกัน การส่องกล้องแบบนี้เป็นวิธีการตรวจที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงและใช้เวลาการตรวจเพียง 10-15 นาที

  3. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscope)
  4. การส่องกล้องวิธีนี้จะส่องกล้องผ่านเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนกลาง ส่วนต้น และลำไส้เล็กส่วนปลาย โดยแพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยให้หลับขณะส่องตรวจ ดังนั้นระหว่างการส่องกล้องตรวจผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด ใช้เวลาตรวจประมาณ 20-30 นาที ขึ้นอยู่กับความยาวลำไส้ใหญ่ของคนไข้ เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์สามารถตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้โดยไม่ต้องผ่าตัด และสามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ทันที

  5. การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP)
  6. เป็นการตรวจรักษาโดยการกล้องส่องเข้าไปทางปากผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น จนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำไส้เล็ก ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน เช่น ภาวะดีซ่าน นิ่วในท่อทางเดินน้ำดี ท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน ท่อตับอ่อนอุดตัน เนื้องอกท่อทางเดินน้ำดี หรือตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี

เตรียมตัวอย่างไร ก่อนเข้ารับการตรวจส่องกล้อง

  • ทานอาหารที่ย่อยง่าย อย่างน้อย 3 วันก่อนเข้ารับการตรวจ
  • งดทานผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีเส้นใยสูง
  • งดทานอาหารและเครื่องดื่ม ภายใน 8-10 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการส่องกล้อง
  • กรณีส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ควรทานยาระบาย ให้ตรงตามคำแนะนำของแพทย์
  • ควรมีญาติหรือคนดูแลมาด้วย (เพราะบางกรณีแพทย์อาจมีการใช้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ)