เนื้องอกรังไข่ อันตรายแฝง...ที่ไม่ใช่แค่อ้วนลงพุง
โรงพยาบาลเปาโล
30-ก.ค.-2562
ท้องโต พุงป่อง ฟังดูอาจเหมือน “ภาวะอ้วนลงพุง” แต่เมื่อไหร่ที่อาการพุงป่องนี้เกิดขึ้นทั้งที่ก็ยังทานปกติ ไม่ได้จัดบุฟเฟ่ต์มื้อหนักบ่อยเป็นพิเศษ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “เนื้องอกรังไข่” ภัยใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกวัยควรระวัง เพราะหากเนื้องอกนั้นคือเนื้อร้ายอย่าง “มะเร็ง” การตรวจพบเร็วและรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะช่วยหยุดการลุกลามของโรค หรือรักษาให้หายได้!!

แยกให้ออก! ระหว่าง “ซีสต์” กับ “เนื้องอกรังไข่”

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า คำว่า “เนื้องอกรังไข่” เป็นคำเรียกกว้างๆ ของก้อนที่เกิดขึ้นที่รังไข่ โดยอาจเป็นก้อนเนื้อตันหรือก้อนเนื้อที่เป็นถุงน้ำ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ...
  • ถุงน้ำ (Cyst) เป็นเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นถุง และภายในบรรจุของเหลว น้ำ เนื้อเยื่อ หรือไขมัน
  • ก้อนเนื้อธรรมดาหรือชนิดไม่ร้ายแรง (Benign)
  • ก้อนเนื้อที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง (Malignant)

ท้องป่อง อ้วนลงพุง หนึ่งในสัญญาณเตือน “เนื้องอกรังไข่”

เพราะถุงน้ำหรือก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้น จึงอาจทำให้คนไข้รู้สึกท้องป่อง ท้องโต เหมือนภาวะอ้วนลงพุงได้ แต่หากเมื่อไหร่มีสัญญาณเหล่านี้ร่วมด้วย... นี่อาจไม่ใช่แค่ภาวะอ้วนทั่วๆ ไป
  • ปวดท้องน้อย
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • ท้องอืด รู้สึกแน่นท้อง
  • คลำพบก้อนที่หน้าท้อง
  • ปัสสาวะบ่อย (กรณีที่ก้อนไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ)
  • ท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก (กรณีที่ก้อนไปกดเบียดลำไส้)
  • บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน หรือมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะตกเลือดและติดเชื้อได้

การตรวจวินิจฉัยให้รู้! ที่ดูว่าท้องป่อง...เสี่ยงเนื้องอกรังไข่หรือไม่

  • ตรวจภายในหรือตรวจทางทวารหนัก
  • ตรวจด้วยการอัลตร้าซาวนด์ ผ่านทางหน้าท้องหรือช่องคลอด
  • ตรวจโดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
  • ตรวจโดยการเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

หากตรวจพบเนื้องอกรังไข่...รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

  • กรณีที่พบว่าเป็น “ถุงน้ำธรรมดา” หรือถุงน้ำที่เกิดจากการทำงานของฮอร์โมนตามรอบเดือน ไม่อันตราย...ไม่จำเป็นต้องรักษา
  • กรณีที่พบว่าเป็น “ถุงน้ำผิดปกติ” เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ สามารถรักษาได้หลายวิธีตามขนาดของถุงน้ำ แต่หากไม่รักษาจะส่งผลให้ช็อกโกแลตซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเสี่ยงช็อกโกแลตซีสต์แตกได้
  • กรณีที่พบว่าเป็น “ก้อนเนื้อชนิดไม่ร้ายแรง” สามารถรักษาได้ด้วยยาและติดตามอาการว่าก้อนเนื้อยุบลงหรือไม่ แต่หากก้อนเนื้อโตขึ้นหรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการบิดขั้วของเนื้องอก มีการแตกของเนื้องอก หรือมีเลือดออก แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัด
  • กรณีที่พบว่าเป็น “มะเร็งรังไข่” แพทย์จะผ่าตัดเนื้อร้ายออกร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี
เพราะเนื้องอกรังไข่ไม่มีสาเหตุของโรคที่แน่ชัด การป้องกันที่ดีที่สุดจึงเป็นการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี แต่หากปล่อยปละละเลยการตรวจสุขภาพจนเนื้องอกรังไข่เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือกลายเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็ง การเริ่มต้นรักษาตอนนั้นก็อาจจะสายเกินไป ปรึกษาแพทย์ออนไลน์